ประสบการณ์สุดเหวอที่อัมสเตอร์ดัม เมื่อชาวดัตช์พูดตรงจนได้ดี

ประสบการณ์สุดเหวอที่อัมสเตอร์ดัม เมื่อชาวดัตช์พูดตรงจนได้ดี


“ถ้าอยากดูเป็นมืออาชีพ ก็ฝึกภาษาอังกฤษดิ”

เราไปเรียนในมหาวิทยาลัยและใช้ชีวิตที่อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ราว 4 ปี วันหนึ่งหลังจากถกปัญหาเรื่องการอนุรักษ์มรดกโลกในห้องเรียนแล้ว ก่อนกลับบ้านก็มีเพื่อนคนหนึ่งเดินมาพูดประโยคนั้น ฟังแล้วอึ้งนะ เพราะคิดว่าภาษาเราก็ไม่ได้แย่มาก แค่ต้องปรับตัว เป็นคนไทยคงไม่พูดกับเราขนาดนี้ และนั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้รู้ว่าคนดัตช์พูดตรงมาก

การพูดตรงของพวกเขาเหมือนเป็นนิสัยร่วมของคนในชาติ เหมือนคนไทยที่ยิ้มเก่งและมีน้ำใจ แต่คนดัตช์ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กว่าให้พูดความต้องการของตัวเอง อย่างเด็ก 2 ขวบช่วงที่จะเปลี่ยนจากทารกเป็นมนุษย์จิ๋วที่รู้ภาษา พ่อแม่ก็เริ่มสอนเรื่องวินัยและเหตุผล แต่เด็กยังไม่เข้าใจเต็มที่ บางครั้งจึงงอแงมาก วิธีที่คนดัตช์พูดเวลาลูกร้องคือ ถามว่าจะเอาอะไรคะ ? อยากได้อะไรไหนบอกสิ ? ไม่ใช่การบอกให้เงียบหรือให้ทำตัวดี ๆ

ชาวดัตช์ถูกหล่อหลอมทั้งที่บ้าน โรงเรียน และสังคม พอโตขึ้นมาแล้วทุกคนพูดตรงหมด อยู่ที่อัมสเตอร์ดัมใครอ้อมค้อมจะดูแปลก เราเจอประจำตามถนน อย่างเวลาปั่นจักรยานขึ้นเนินแล้วช้า คันหลังจะตะโกนมาว่า “ไม่ไหวก็เข็นสิ” หรือว่า “ร้านเราไม่ให้ถ่ายรูปนะ” ทีแรกแอบคิดว่าคนดัตช์พูดจากระด้าง สักพักเริ่มชินและเห็นข้อดีมากขึ้น

การพูดตรง คือ การเคารพตัวเองและผู้อื่น

ดร. แบรด แบลนตัน นักจิตบำบัด เจ้าของหนังสือและเว็บไซต์ Radical Honesty พูดถึงการแสดงออกอย่างจริงใจใน Tedx Talk ปี 2015 เอาไว้ว่า การเรียบเรียงข้อมูลในสมองของเราไม่ได้แม่นยำเสมอไป ดังนั้นการสื่อออกมาตรง ๆ คือ การสังเกตและการรายงานว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างตัวเรากับสิ่งแวดล้อม ร่างกาย รวมทั้งสิ่งที่คิด ซึ่งคนที่ฟังอยู่ไม่ต้องเสียเวลาเดา ความสัมพันธ์ระหว่างกันจึงราบรื่น เขายังทิ้งคำถามไว้ว่า “การพูดโกหกสร้างปัญหา พูดตรงก็สร้างปัญหา เป็นคุณจะเลือกสร้างแบบไหนล่ะ ?”

กลับมาที่ชาวดัตช์ ในเมื่อพวกเขาเป็นคนที่ตรงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มเล็กหรือใหญ่ความซับซ้อนจะน้อย ตอนอยู่ที่นั่นเราเห็นบ่อยว่ารายการข่าว ชอบเชิญแขกรับเชิญมานั่งร่วมโต๊ะกัน 3-4 คน เพื่อถกปัญหาบ้านเมือง แล้วบางครั้งเป็นฝ่ายตรงข้าม ถึงประเด็นจะร้อนมาก แต่เขาจะไม่ทะเลาะกัน หากมีคนพูดขึ้นมาขัดกับความคิด อีกฝ่ายก็แค่อธิบายในมุมของตัวเอง พูดง่าย ๆ คือ “ตรงมา ตรงกลับ ไม่โกง” พอเข้าใจกันมากขึ้นแล้ว ก็มาหาทางแก้สิ่งที่เป็นอยู่

การพูดตรง คือ ความมั่นใจในตัวเอง

การแสดงออกของเขาไม่ใช่การโอ้อวด หรือข่มให้อีกฝ่ายดูด้อยกว่า แต่เป็นการบอกว่าตัวเองเป็นคนยังไง ดังนั้นคนดัตช์จะมองว่าเป็นนิสัยของความมั่นใจและกล้าแสดงออก เมื่อมั่นใจแล้ว ไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์แบบไหนก็จะปรับตัวได้ง่าย

ยกตัวอย่างความมั่นใจในอุดมการณ์ของนายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ มาร์ก รูทท์ ที่เชื่อว่าการออกจากสหภาพยุโรปไม่เป็นผลดีต่ออังกฤษ เขากล่าวเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า “ประเทศนั้นล่มสลายลงแล้ว ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ การเงิน และรัฐธรรมนูญ” แล้วเขาพูดทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามีคนจำนวนหนึ่งไม่พอใจ และอาจเสียคะแนนนิยมในการเลือกตั้งสมัยหน้า
“การพูดตรง คือ การรักษาสิทธิ์และสร้างโอกาส”

ที่เมืองไทยมีข่าวที่ได้ยินกันทุกวันเรื่องชาวบ้านถูกเอาเปรียบจากผู้มีอิทธิพลต่าง ๆ บางกรณีกว่าจะไปแจ้งความ และบอกให้สังคมรู้ก็เสียผลประโยชน์ไปแล้ว ซึ่งเรื่องแบบนี้เกิดน้อยมากในเนเธอร์แลนด์ เนื่องจากทุกคนยินดีพูดถึงปัญหา ดังนั้นพอมีสิ่งผิดปกติ จะเริ่มรวมตัวกันและส่งเสียงให้ดังขึ้น ความเคลื่อนไหวในสังคมส่วนใหญ่จึงได้ผลเร็ว เขาพยายามสร้างโอกาสให้ตัวเองด้วยการสื่อสารที่ตรงไปตรงมา

ตัวอย่าง ที่อัมสเตอร์ดัมมีงาน Gay Pride ที่มีชื่อเสียงในยุโรป แต่ละปีจะมีขบวนพาเรดของชาวสีม่วงล่องเรือมาตามคลอง เป็นงานที่สนุกมาก แล้วปี 2014 เป็นปีแรกที่มีเรือโมร็อกโกเข้ามาร่วมขบวนด้วย ซึ่งพวกเขาเป็นผู้อพยพที่เข้ามาใช้ชีวิตในอัมสเตอร์ดัม แล้วซึมซับวัฒนธรรมดัตช์ จนกล้าเปิดตัวเองกับสังคมว่าตัวเองรวมอยู่ในกลุ่ม LGBT ทั้ง ๆ ที่ขัดกับหลักศาสนาและความเชื่อเดิม ส่วนสิ่งที่ชาวเมืองปฏิบัติตอบก็คือ อ้าแขนรับค่ะ ขนาด Amsterdam Museum ยังขอเก็บชุดโชว์และพร็อบต่าง ๆ ไว้ในพิพิธภัณฑ์เลย พีคไหม ?

การพูดตรง คือ การยอมรับความจริง

ข้อนี้สำคัญมากสำหรับการทำงาน เมื่อมีปัญหาส่วนใหญ่คนไทยไม่กล้ายอมรับว่า สิ่งที่ได้รับมอบหมายมาทำไม่ได้ หรือแผนที่วางไว้กำลังจะเปลี่ยนไป เพราะเกรงใจและกลัวถูกตำหนิ

เราไม่เถียงว่าความเกรงใจเป็นสิ่งที่ดี และช่วยให้สังคมน่าอยู่ แต่หลายคนใช้คำนี้อย่างสับสน

ความเกรงใจคือ ความรู้สึกที่ไม่อยากทำให้ผู้อื่นลำบากหรือรำคาญใจ ‘ไม่ใช่การเอาใจ’ สมมติว่าในแผนกที่เราทำงานอยู่มีปัญหา แต่ทุกคนยุ่งกันหมด เราไม่อยากไปเพิ่มงานให้เขา นี่คือ ความเกรงใจ

แต่ถ้าสถานการณ์ไม่ได้แย่ แล้วเราเก็บเรื่องเอาไว้ เพราะอยากให้ทุกคนชอบเรามากขึ้น อันนี้ผิดจุดประสงค์ ซึ่งหากเป็นออฟฟิศสักที่ในอัมสเตอร์ดัมจะไม่มีเหตุการณ์ลักษณะนี้ อย่าลืมว่าคนเราไม่ได้ถนัดทุกอย่าง ดังนั้นการเอ่ยปากขอความช่วยเหลือเป็นเรื่องธรรมดา ทุกอย่างจะผ่านไปได้เมื่อพูดออกมาและช่วยกันแก้

ส่วนอีกกรณี กลัวถูกตำหนิ เรามีเรื่องเล่าสมัยทำงานสำนักพิมพ์ มีอยู่ครั้งหนึ่งฝ่ายกราฟฟิกทำไฟล์ภาพแผนที่หายไป แล้วกลัวถูกดุเลยไม่บอกใคร จนเกือบถึงวันรวมเล่มเพิ่งจะยอมรับว่าหาไฟล์ไม่เจอ เขาก็โดนต่อว่า แต่โชคดีที่ไฟล์นั้นมีอยู่กับหัวหน้าด้วย งานจึงเสร็จตรงเวลา

ลองคิดดูบางครั้งการสารภาพออกมาตรง ๆ ไม่ได้แย่เสมอไป ในทางกลับกัน ถ้าบริษัทส่งพิมพ์หนังสือล่าช้า อาจเสียเงินและเวลาในการผลิตมากขึ้นไปอีก


ยิ่งไปกว่านั้น พอพูดตรง ๆ แล้ว ปัญหาการนินทาก็หมดไปด้วย บางคนกังวลว่าคนอื่นจะคิดกับตัวเองไม่ดี จึงไม่กล้าบอก เตือน หรือถกเถียง กลายเป็นสะสมความเครียด แล้วก็ไปซุบซิบกันเป็นประเด็น ซ้ำร้ายอาจเกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แทงข้างหลัง จนแตกความสามัคคีในองค์กร เราว่าบ่นให้น้อย เปล่งเสียงให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แล้วร่วมมือกันจะเวิร์กกว่านะ

คนพูดตรงไม่ใช่คนก้าวร้าว แค่แสดงออกอย่างจริงใจ ทุกความรู้สึกขอบคุณ ชื่นชม อึดอัด และไม่พอใจถูกสื่อออกมาแบบไม่ปรุงแต่ง ต่างกับคนก้าวร้าวที่มักโชว์เหนือใช้คำพูดกดคนอื่นให้ต่ำลง

วิธีที่จะทำให้พูดตรงกว่าที่เป็นอยู่คือ จริงใจกับตัวเองให้ได้ก่อน แม้อาจติดขัดบ้างในระยะแรก แต่สักพักจะคุ้นชิน เกิดความเคารพตนเอง รู้ลิมิตที่รับได้ รวมทั้งไม่อนุญาตให้สิ่งแย่ ๆ เข้ามากระทบชีวิต ส่วนในระยะยาวจะทำให้ยิ่งเข้าใจและให้เกียรติคนรอบข้าง

ในเมื่อความคลุมเครือไม่มีประโยชน์ เราจะเก็บมันไว้ทำไมล่ะ มาพูดให้ปากตรงกับใจแล้วอะไร ๆ จะง่ายขึ้น


ที่มาของข้อมูล

https://www.bloomberg.com/news/articles/2016-07-05/cameron-ally-says-collapsed-u-k-faces-years-of-brexit-mess?fbclid=IwAR3syvhLPdVeWMETS0TeAvwbXfu6nkWbRrlrdo8k-l1TZeCTkQsXz8QcW80

www.youtube.com

www.themoroccantimes.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *