Quotes – Bryan Stevenson

Quotes – Bryan Stevenson


“สิ่งที่ตรงข้ามกับความยากจน ไม่ใช่ความรวยเสมอไป
หลายๆ ครั้ง สิ่งที่ตรงข้ามกับความยากจน คือ ความยุติธรรม”

“The opposite of poverty is not wealth.
In too many places, the opposite of poverty is justice.”

– Bryan Stevenson

ข้อความนี้เป็นของ Bryan Stevenson ทนายความชาวอเมริกันและนักเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมทางสังคม เขาได้พูดถึงเรื่องระบบความยุติธรรมของอเมริกา และทัศนคติที่บิดเบี้ยวของคนในสังคมไว้ใน TED Talk ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมแห่งการตั้งคำถามต่อมาตรฐานของระบบยุติธรรม และการที่อเมริกาปฏิบัติต่อประชาชนผิวสี

เขาเล่าประสบการณ์การทำงานตลอดชีวิตของเขา เขาบอกว่าชายชาวอเมริกันผิวสีวัย 18 – 30 ปี 1 ใน 3 คนอยู่ในคุก หรือถูกดำเนินคดีจนมีทัณฑ์บน  เขากล่าวว่าระบบยุติธรรมของอเมริกาไม่ได้มีความเหลื่อมล้ำ บิดเบี้ยว แค่ในเรื่องเชื้อชาติเท่านั้น แต่ความยากจนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งด้วย

“ประเทศนี้มีกระบวนการยุติธรรมที่ดีกับคนรวยที่ทำผิด มากกว่าคนจนที่เป็นผู้บริสุทธ์”

ในบางรัฐเช่น รัฐอลาบาม่า ยังมีการตัดสินเลือกตั้งสำหรับผู้ที่เคยมีความผิดทางอาญา นั่นทำให้ชายผิวสี 34% ในรัฐนั้นไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง อันเป็นการตัดสิทธิ์ในความเป็นประชากรในประเทศกลายๆ เลยทีเดียว

อีกทั้ง Bryan Stevenson ยังทักท้วง ตั้งคำถาม ถึงมาตรการลงโทษอย่างไร้เมตตาของอเมริกา ว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเดียวที่ตัดสินให้เด็กอายุ13 “ไปตายในคุก” เพราะในขณะที่ประเทศอื่นๆ มีการจำกัดกฎหมายการลงโทษสำหรับเยาวชน ไม่ให้ได้รับโทษเท่าผู้ใหญ่ แต่สำหรับเด็กในอเมริกา สามารถรับโทษติดคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีทัณฑ์บน

อีกทั้งยังพูดถึงการ “ประหารชีวิต” ว่า “เราถูกสอนให้คิดว่า นักโทษเหล่านั้นสมควรตายเพราะอาชญากรรมที่พวกเขาก่อแล้วหรือไม่? แต่มันมีวิธีคิดอีกแบบ ไม่ใช่การตั้งคำถามว่าผู้คนสมควรตายเพราะสิ่งที่เขาทำไหม? แต่คือคำถามว่า
…พวกเราสมควรมีสิทธิ์ที่จะฆ่าเขาหรือไม่”

เพราะมาตรฐานการตัดสินโทษประหารในอเมริกาก็ไม่ได้เสถียร 100% เพราะ 1 ใน 9 คนของนักโทษที่ถูกตัดสินประหาร เป็น “ผู้บริสุทธิ์” แต่สิ่งเหล่านี้อาจไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนตระหนักมากนัก เพียงเพราะ “มันไม่ใช่เรื่องของเรา”

ทำให้หันกลับมามองปัญหาในประเทศไทยได้เหมือนกัน ทั้งในแง่ของระบบความยุติธรรม และปัญหา “ความยากจน” จริงๆ ด้วย

ว่าทุกวันนี้ในขณะที่มีคนที่มองเห็นระบบที่บิดเบี้ยว ทั้งทัศนคติ และมาตรฐานต่างๆ ของคนในสังคมที่บิดเบี้ยวไม่แพ้ระบบ แต่ในสังคมยังมีคนมากมายไม่เว้นแม้แต่ชนชั้นกลาง ที่ลืมตาอ้าปากไม่ได้ ไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ยั่งยืน เพราะ “ระบบ” และ “กฎหมาย” ที่ยังเอื้อให้มีความเหลื่อมล้ำในสังคมทั้งเรื่องโอกาสที่จะรวย และโอกาสที่จะได้รับความยุติธรรม แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่ใช่สิ่งที่ผู้มีอำนาจเผด็จการ คนมีศักดินา คนมีสี คนมีจะกินในประเทศนี้ตระหนัก เพียงเพราะแม้จะมีคนจน คนอดตาย แต่พวกเขาไม่ได้เดือดร้อน…


ที่มาข้อมูล

1-https://www.goodreads.com/

2-www.ted.com/talks

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *