หลายคนคงเคยสงสัย ฉงนใจปนเวทนาอยู่นิดๆ ว่าทำไม? มนุษย์ “สลิ่ม” ที่เราพบเจอกันอยู่ทุกวันนี้ หากไม่ใช่เหล่าชนชั้นสูงที่ได้รับประโยชน์จากการพึ่งพาอภิสิทธิ์ของเหล่าขั้วอำนาจต่างๆ อยู่แล้ว แต่เป็นชนชั้นกลางไปจนถึงล่างที่อยู่ไกลจากผลประโยชน์เหล่านั้น ถึงได้ยึดมั่นในจุดยืนที่จะปฏิเสธ “ความเท่าเทียม” อย่างสุดจิตสุดใจ ทั้งยังสนับสนุน “อำนาจนิยม” และถือข้างผู้มีอำนาจในทุกสถาบัน ไม่ว่าจะอวยนายก ยกชูสถาบันกษัตริย์ขึ้นเหนือหัวพร้อมปฏิญาณกู่ก้องว่าจะปกป้องยิ่งชีพ
ทั้งที่สิ่งเหล่านั้นที่เหล่า “สลิ่ม” กำลังเทิดทูน รวมทั้งจุดยืนที่ยึดมั่นอยู่ ไม่เคยอำนวยคุณภาพชีวิตที่ดี แก้ปัญหาปากท้อง หรือแม้แต่เจียดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมให้กับพวกเขาเลยด้วยซ้ำ

Last Place Aversion
บนโลกใบนี้มีทฤษฎีทางจิตวิทยาที่เรียกว่า “Last Place Aversion” ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า “ความกลัวการเป็นที่โหล่”
มาจาการวิจัยของ Ilyana Kuziemko และ Ryan W. Buell นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Princeton และ Harvard ซึ่งได้มีการทดลองโดยนำคนมาเล่นเกมสุ่มแจกเงิน โดยผู้ถูกทดลองแต่ละคนจะได้รับการสุ่มแจกเงินดอลลาร์เป็นจำนวนเงินที่แตกต่างกันเพียง 1 ดอลลาร์ จากนั้นจึงให้แต่ละคนเปิดเผยจำนวนเงินที่ได้ และจัดลำดับกันตามจำนวนเงิน
จากนั้นผู้เล่นแต่ละคนจะได้รับเงินเพิ่มคนละ 2 ดอลลาร์ เพื่อให้เลือกที่จะมอบให้ผู้ที่อยู่ในลำดับที่ “สูงกว่า” หรือ “ต่ำกว่า” ก็ได้ ปรากฏกว่าผู้เล่นส่วนมากเลือกมอบเงินให้คนที่อยู่ในลำดับต่ำกว่า ยกเว้นผู้ที่อยู่ในลำดับท้ายๆ และลำดับ “รอง” ท้าย ที่เลือกมอบเงินให้กับคนที่อยู่ในลำดับสูงกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญ
แสดงให้เห็นว่าบุคคลมีแนวโน้มที่จะกลัวว่าตัวเองจะอยู่เป็นลำดับที่ “โหล่” มากกว่าที่จะสนใจว่าผู้ที่อยู่ลำดับสูงกว่าจะล่วงหน้าตนไปไกลแค่ไหนแล้ว

ยังมีการทดลองด้วยเกมอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง ซึ่งเป็นการสุ่มแจกเงินให้ผู้ทดลองเหมือนกัน แต่ครั้งนี้เป็นการสุ่มแจกเงินจำนวนต่างกัน และหลังจากที่ให้เผยว่าใครมีจำนวนเงินมากกว่า แล้วจัดลำดับตามจำนวนเงินที่สุ่มได้ คราวนี้มีการให้เลือกระหว่าง ได้รับ “เงิน” หรือเลือกเล่นเสี่ยงทายล็อตเตอรี่ ซึ่งมี 2 ตัวเลือก คือเป็นเงิน หรือเป็นโอกาสในการเลื่อน “ลำดับ”
โดยผู้เล่นลำดับแรกๆ ไปจนถึงท้ายๆ มีผู้เลือกทั้งรับเงิน และเล่นเสี่ยงทายคละๆ กันไปในแต่ละรอบ แต่ผู้เล่นที่อยู่ในลำดับรอง “ท้าย” มักเลือกเล่นเสี่ยงทายล็อตเตอรี่ เหมือนกับว่า “ลำดับ” นั้นมีความสำคัญต่อพวกเขามากกว่า “เงิน” ในสถานการณ์นั้น
ทำให้เห็นได้ว่าสุดท้ายแล้วมนุษย์ที่มีความคิดแบบ “Last Place Aversion” นั้น กลัวว่าตัวเองจะตกอันดับ เป็นที่โหล่ มากกว่าจะคำนึงถึงผลประโยชน์อื่นๆ

ซึ่งไม่ต่างกับมนุษย์ “สลิ่ม” ชนชั้นกลาง หรืออาจจะรวมถึงชนชั้นล่างบางคนด้วย ที่เลือกถือข้างอำนาจ และเป็นปฏิปักษ์กับความเป็น “ประชาธิปไตย” ที่สามารถเกลี่ยความเท่าเทียม และสิทธิในรัฐสวัสดิการได้ทั่วถึง ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ เพราะพวกเขาเองก็ย่อมได้รับประโยชน์นั้นด้วย แต่กลับเลือกที่จะกลัวว่าประชาธิปไตย และการจัดสรรสวัสดิการต่างๆ จะทำให้ชนชั้นล่างกว่า มีรายได้ต่ำกว่า มีอำนาจน้อยกว่าตน สามารถลืมตาอ้าปาก มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีสิทธิ์มีเสียงในสังคมได้เทียบเท่าตนเอง จนไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอะไรบางอย่างจากตนอีก และวันหนึ่งพวกเขาก็อาจมีโอกาสตกลงมาอยู่ในระดับที่ “โหล่” แทน
เราจะเห็นได้ชัดยิ่งขึ้น เมื่อย้อนกลับไปดูช่วงม็อบกปปส. หรือม็อบธงชาติ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าเป็นจุดกำเนิดของมวลมหาประชา “สลิ่ม” อย่างเป็นทางการ และเป็นม็อบที่ทำลายความหมายของ “ประชาธิปไตย” ในไทยอย่างแท้จริง ในม็อบมีบรรดาชนชั้นนำ นักธุรกิจ อีลิท ดารานักแสดงตบเท้าเข้าร่วมมากมาย รวมทั้งบรรดาชนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ และชนชั้นล่างบางส่วน อีกทั้งสมาชิกราชวงศ์บางคนก็แสดงจุดยืนสนับสนุนผ่านทางโซเชียลมีเดีย

ช่วงนั้นบรรดาแกนนำ ผู้ปราศรัย พยายามใช้คำว่า “คนดี”, “มีการศึกษา”, “ปัญญาชน” เข้ามาอธิบายความเป็นกปปส. และเสนอแนวคิดว่าคนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดม็อบคือรากหญ้า คนไม่มีการศึกษา ไม่รักชาติ และไม่มีคุณสมบัติพอที่จะมีเสียงเลือกตั้ง
แน่นอนว่าวาทกรรมพวกนี้ยิ่งเป็นการสร้างพลังให้ “ชนชั้นกลาง” ในม็อบรู้สึกเป็น “พวกเดียวกัน” กับแกนนำ ชนชั้นนำ คนรวย และดารามากขึ้น จนสามารถถีบชนชั้นกลางถึงล่างคนอื่นๆ ที่เหลือในประเทศลงไปให้อยู่ต่ำกว่าตนแบบไม่รู้สึกกระอักกระอ่วน ด้วยความกลัวว่าถ้าไม่รีบเกาะชายผ้าชนชั้นสูง ก็จะถูกรวมอยู่ในพวก “รากหญ้า” ไปด้วย ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นลำดับ “โหล่” ในสังคมนั่นแหละ
แต่ในขณะเดียวกันความตลกร้ายก็คือสลิ่มชนชั้นกลาง-ล่างที่มีความจงเกลียดจงชังทักษิณ ชินวัตรเป็นปมหลักในใจ กลับยอมรับได้กับสวัสดิการจากโครงการประกันสุขภาพ(บัตรทอง)ที่เป็นนโยบายของอดีตนายกผู้นั้นเองฯ ก็คือไม่เอา “ประชาธิปไตย” แต่ก็ยังอยากได้ “รัฐสวัสดิการ” ที่ดีจากความเป็นประชาธิปไตยอยู่ดี

แต่แน่นอนว่าไม่ใช่มนุษย์ทุกคนจะมีความขี้อิจฉา กลัวคนอื่นจะได้ดีกว่าตน(Last Place Aversion) เสมอไป มิฉะนั้นคงไม่มีผู้คนที่ยังยึดมั่นความเป็น “คนเท่ากัน” และกำลังเรียกร้องต่อสู้ให้ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมไม่ว่าจะเป็นเพศไหน เชื้อชาติไหน มีรูปลักษณ์แบบไหน หรือมีเงินในกระเป๋าเท่าไหร่ และทุกคนควรมีสิทธิ์ที่จะได้รับการดูแลจากรัฐฯ ที่พวกเขามีสิทธิ์มีเสียงเลือกมาอย่างเท่าเทียมกัน
และสิ่งที่จะทำให้ระบบความคิดแบบ “สลิ่ม” มีผลในสังคมนี้น้อยลงไปได้ คงมีทางเดียวคือทำให้สังคมเป็นแบบที่สลิ่มกลัวที่สุด คือเป็นสังคมแห่งความ “เท่าเทียม” ที่สิทธิในความเป็นมนุษย์ของทุกคนเท่ากัน มีสิทธิ์มีส่วนในการเลือกแนวทางของประเทศชาติเท่ากัน จนคุณภาพชีวิตดีพอที่จะไม่ต้องกังวลว่า ฉันอยู่อันดับไหนในสังคมอีกต่อไป
ที่มา
https://www.ssc.wisc.edu/~scholz/Seminar/lpa_draft_6may2012-1.pdf
https://www.scientificamerican.com/article/occupy-wall-street-psychology/