ในภาวะเศรษษฐกิจฝืดเคืองขนาดนี้ แถมจะออกไปไหนยังลำบากเพราะโรคระบาด สิ่งหนึ่งที่เราทำคือเปิดเฟซบุ๊ก และพบว่าที่นั่นเป็นแหล่งรวมของ “โค้ชออนไลน์” เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นโค้ชด้านจิตวิทยาความสุข หรือโค้ชธุรกิจ เท่าที่ฟังมาเราพบว่า “โค้ชออนไลน์” ทั้งหมดนี้ สุดท้ายจะนำไปสู่ปลายทางเดียวกันคือ การมีทัศนคติที่ถูกต้อง เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเอง แต่นั่นทำให้เรารู้ “เอ๊ะ มันใช่เหรอ” อยู่ตลอดเวลา

ทัศนคติที่ว่าก็คือ “สภาพภายนอกของชีวิต จะสอดคล้องกับสภาวะภายในของคนคนนั้นเสมอ” ซึ่งเป็นข้อความจากหนังสือ As a Man Thinketh ที่เขียนโดย James Allen ในปี 1903 หนังสือเล่มนี้เป็นเหมือน “ต้นทาง” ของหนังสือ How to และการโค้ชชิ่งทั้งหมด และเป็นรากฐานของกฎแรงดึงดูดที่เป็นแผนแม่บทของโค้ชในยุคปัจจุบัน ใจความหลักของหนังสือเล่มนี้คือ “คนเราจะเป็นไปตามที่ตัวเองคิด” ด้วยเหตุนี้เอง การปรับ mindset ให้ถูกต้องจึงเป็นบทเรียนหมายเลขหนึ่งของโค้ชทุกคน
mindset ที่ถูกต้องคืออะไร มันคือการเชื่อว่า “ชีวิตลิขิตได้ด้วยมือเรา” และ “เลิกโทษสิ่งแวดล้อม” ซึ่งตรงกับค่านิยม American Dream ที่คนเราสามารถบรรลุเป้าหมายด้วยการแบ่งปัจจัยทั้งหมดในชีวิตเป็น 2 ส่วนคือ ปัจจัยที่คุมได้ กับ ปัจจัยที่คุมไม่ได้ ปัจจัยที่คุมได้คือ “ทัศนคติ อารมณ์ และเวลา” ที่เหลือคือเรื่องที่คุมไม่ได้ เราต้องโฟกัสเฉพาะปัจจัยที่คุมได้และทุ่มเทแรงกายแรงใจทั้งหมดให้กับมัน สุดท้ายความมุมานะของเราก็จะนำมาซึ่งความสำเร็จ ไม่ว่าอุปสรรคจะเป็นอย่างไร

ฟังดูแล้วยิ่งใหญ่มากเลยใช่มั้ย เป็นเหมือนเรื่องราวของคนสู้ชีวิต ที่เราได้ยินกันซ้ำๆ ในสื่อต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เรากังขาอย่างแรง คือ ความสำเร็จในมุมมองของโค้ชเหล่านั้น ถูกตัดสินไปว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล ที่ไม่มีสังคม การเมือง นโยบายรัฐใดๆ ข้องเกี่ยว เส้นทางสู่ความมั่งคั่งถูกตัดทอนให้เหลือเพียงเรื่องของคนที่คิดถูกต้องและขยัน ซึ่งนั่นนำไปสู่การเหมารวมว่าคนที่ยังยากจนอยู่คือคนที่คิดผิดและขี้เกียจไปโดยปริยาย เพียงเพราะมีผู้สำเร็จแบบพลิกล็อคขึ้นมาไม่กี่คนเท่านั้น ทั้งที่ความจริง ความยากจนเป็นผลมาจากการเข้าถึงทรัพยากรและการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ที่โครงสร้างทางสังคมกดทับคนบางกลุ่มไว้ด้วยเช่นกัน แต่โค้ชเหล่านั้นกลับเลือกที่จะพูดความจริงเพียงครึ่งเดียว และใช้ survivorship bias มาพิสูจน์ความเชื่อตัวเอง
แนวคิด “ชีวิตลิขิตได้ด้วยมือเรา” และ “เลิกโทษสิ่งแวดล้อม” นำมาสู่คำแนะนำอีกข้อหนึ่งคือการ “เลิกรับข่าวสาร” เพราะข่าวส่วนใหญ่ไม่ช่วยให้ชีวิตของคนฟังพัฒนาไปข้างหน้า ซึ่งก็ถูกตามมุมมองของโค้ช เพราะข่าวคือเรื่องของคนอื่น (เช่นรัฐบาล) เป็นปัจจัยที่คุมไม่ได้ ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องใส่ใจ เพราะเราควรสะสมความมั่งคั่งส่วนตัวให้แข็งแรงพอที่จะไม่ได้รับผลกระทบจากรัฐบาลมากกว่า แต่การที่เราสุขสบายโดยไม่เห็นว่าเงินของเรามาจากใคร มีใครเดือดร้อนบ้างในสังคม และไม่รับรู้เรื่องราวนอกกลุ่มตัวเองใดๆ มันไม่สอดคล้องกับสังคมที่คนทุกคนต่างเกี่ยวข้องกัน และยิ่งตอกย้ำความเชื่อผิดๆ ที่ได้ยินกันมาตลอดว่า “รัฐบาลมันก็เลวเหมือนกันหมด สุดท้ายเราก็ต้องทำงานหาเงินรับผิดชอบชีวิตตัวเองอยู่ดี” รวมถึงลดทอนปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งหมดให้เหลือเพียงคนจนคือคนคิดผิดและไม่ขยันอีกด้วย

ไม่ใช่เพียงไม่พูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง และปัดปัญหาให้เป็นเรื่องส่วนตัวไป วิธีคิดของโค้ช ยังลดทอนความสำคัญของ active citizen หรือพลเมืองตื่นตัว ให้เป็นเพียง คนคิดลบรวมพลังคิดลบ เพื่อดึงดูดสิ่งลบๆ เข้ามาหาตัวเอง แทนที่จะเอาเวลาไปพัฒนาตัวเองอีกด้วย อย่างในหนังสือ The Secret ที่เป็นตำราของ “กฎแรงดึงดูด” ที่โค้ชต่างๆ ใช้เป็นพื้นฐานในการสอน หนังสือเล่มนั้นยกคำพูดของแม่ชีเทเรซ่าขึ้นมาว่า
“ฉันจะไม่เข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านสงคราม ถ้าคุณมีการชุมนุมส่งเสริมสันติภาพ ช่วยเชิญฉันด้วย”
เพราะตามหลักการกฎแรงดึงดูด ยิ่งต่อต้านสิ่งที่เราไม่ชอบ ยิ่งทำให้เราคิดถึงสิ่งนั้น และยิ่งขยายสิ่งนั้นให้มากขึ้นไปอีก คนที่เชื่อในวิธีคิดนี้ เขาก็จะมองการทำแฟลชม็อบของนักศึกษาเป็นการดึงดูดปัญหาต่างๆ ที่ตัวเองไม่ชอบเข้าหาตัวนักศึกษาเอง (ซึ่งแปลว่าพวกเขามองการปราบม็อบของรัฐเป็นเรื่องชอบธรรมอีกด้วย เพราะนักศึกษาที่ประท้วงต่อต้านรัฐบาลอำนาจนิยมดึงดูดการลิดรอนเสรีภาพในการพูดเข้ามาหาตัวเอง) แทนที่จะสนับสนุนการใช้สิทธิการชุมนุมหรือสนับสนุนการกล้าคิดกล้าทำของนักศึกษา
ถ้ามองในเรื่องการเมือง วิธีคิดแบบนี้คือการเมืองแบบ “คอนเซอร์เวทีฟ” สนับสนุนตลาดเสรี ตามแนวคิดเศรษฐกิจทุนนิยม ที่เป็นเรื่องของการแข่งกันสะสมทุน ที่มีจุดอ่อนที่การสนับสนุนปลาใหญ่ให้กินปลาเล็ก แบบเดียวกับที่สังคมไทยเป็นอยู่ทุกวันนี้ ที่ผู้คนนิยมชมชอบนักธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่ใจบุญ บริจาคช่วยเหลือสังคมเป็นครั้งคราว มากกว่าการ empower ปลาเล็กเป็นปลาขนาดกลางและใหญ่เพื่อคัดคานกับปลาใหญ่ที่กินรวบ ด้วยการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า แก้กฎหมายผูกขาดทางการค้า และสร้างรัฐสวัสดิการ ที่เป็นความเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย

ความเปลี่ยนแปลงที่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าความสุข และความสำเร็จของใครคนหนึ่ง เป็นความสุขในระบบปิด ที่ใช้ความมั่งคั่งอุ้มชูตัวเองให้ลอยเหนือปัญหาจากสังคม ไม่มี “การเมือง” “สังคม” หรือแม้แต่ “เพื่อนร่วมประเทศ” อยู่ในนั้น
เราเชื่อในเรื่องการแบ่งปัน และชื่นชมคนที่เผยแพร่ความรู้ทางสื่อออนไลน์เสมอ รวมถึงยินดีกับคนที่สู้ชีวิตจนประสบความสำเร็จด้วย แต่เราก็สงสัยเหลือเกินว่าทำไมถึงไม่มีโค้ชที่เป็นลิเบอรัล ผู้ผลักดันรัฐสวัสดิการ หรือ active citizen ที่เชื่อในการรวมพลังของคนตัวเล็กๆ ในสังคม มาสอนการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและมั่งคั่งกันบ้าง
ที่มาของข้อมูล
Byrne, R. (2006). The Secret. United States: Atria Books.
https://www.youtube.com/watch?v=iEq0dMu9vpk
https://www.thairath.co.th/news/business/1791221