Say Goodbye to หญิง-ชายไม่เท่ากัน ชายเป็นใหญ่ในสื่อสร้างปัญหาอย่างไร

Say Goodbye to หญิง-ชายไม่เท่ากัน ชายเป็นใหญ่ในสื่อสร้างปัญหาอย่างไร


ผู้หญิงคนหนึ่งกำลังโมโหหลังจากจับได้ว่าแฟนหนุ่มมีกิ๊ก ผู้ชายใส่แว่นคนนั้นจึงจับเธอกดลงกับเตียงพร้อมไซร้ไปที่ซอกคอ และพบว่าผู้หญิงคนนั้นหายโกรธเรื่องนอกใจไปแล้ว

นี่ไม่ใช่แค่ซีนจากการ์ตูน 4 ช่อง จากเพจในเฟซบุ๊ก เหตุการณ์เหล่านี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำแล้วในจอทีวี เมื่อคาวีข่มขืนนารินใน “สวรรค์เบี่ยง” เมื่อหฤษฎิ์ข่มขืนโศรยาใน “จำเลยรัก” เช่นเดียวกับ ชาคริตและญาดาใน “ระเริงไฟ” และอื่นๆ อีกมากมาย

ภาพจาก https://ch3plus.com/

เลิฟซีนเหล่านี้มีสูตรสำเร็จที่ว่า พระเอกกับนางเอกตอนแรกอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกัน พระเอกมีจิตพิศวาสนางเอกเลยรุกก่อน นางเอกขัดขืนพอเป็นพิธี สุดท้ายทั้งคู่มีอะไรกัน และตอนจบสองคนรักกัน ฉากเหล่านี้ชัดเจนมากๆ ว่าเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ แต่ขณะเดียวกันฉากที่ว่าก็เป็นฉากที่คนตั้งหน้าตั้งตารอดู และคนจำนวนไม่น้อยที่ดูคือผู้หญิง

ในช่องคอมเมนต์ของ Youtube ที่ลงวิดิโอฉากข่มขืนนางเอก ก็มีคอมเมนต์จากผู้หญิงที่ชื่นชอบฉากแบบนั้น เธอกล่าวว่า

“เค้าทำละครแนวนี้เพราะผู้หญิงชอบดู..และที่ผู้หญิงชอบดูก็เพราะชอบมโนว่าตัวเองเป็น”นางเอก

“..มันฟิน..อย่าเอาไปปนกับชีวิตจริง.. และในชีวิตจริง ผู้ชายต้องมี”สำนึก”เองต่างหาก”

รวมถึง “ส่วนใหญ่ละครแนวนี้จะฉายต้องดึก ซึ่งจะมีแค่ผู้ใหญ่ดู ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แยกได้ระหว่างเรื่องจริงกับละคร ยอมรับว่าชอบแน่นี้เหมือนกันมันฟินดี แต่ถ้าถามถึงความเป็นจริงก็ไม่เอาหรอก ชอบแบบสุภาพบุรุษมากกว่า พวกมือไม้ปลาหมึกยิ่งไม่ชอบ คิดซะว่าดูเพื่อความบันเทิง เป็นแง่คิด”

อ่านแบบนี้หลายคนอาจพูดได้ว่า “เห็นมั้ย ฉากเหล่านี้เป็นแค่แฟนตาซี จะไปจริงจังอะไร” ซึ่งก็ไม่แปลกที่ละครแบบนี้จะมีคนสร้างและรีเมคกันอยู่เรื่อยๆ เพราะมันเติมเต็มฝันของผู้หญิงได้

แต่ยิ่งเห็นอย่างนั้น เรามองว่ามันยิ่งสะท้อนปัญหาค่านิยมเรื่องเพศในสังคมชายเป็นใหญ่ในประเทศเอามากๆ

ภาพจาก uncommongroundmedia.com

1. ผู้หญิงที่ต้องการมีเพศสัมพันธ์ ไม่สามารถบอกความต้องการตรงๆได้ เพราะจะโดนตีตราในทางลบ

ในวิธีคิด “ชายเป็นใหญ่” ผู้ชายจะรู้สึกถูกเติมเต็มถ้าเขาเป็นคนเป็น “จุดไฟรัก” ให้ผู้หญิงที่ไม่สนใจ ให้ตกในมนต์สเน่ห์ของเขา ด้วยเหตุนี้ ถ้าผู้หญิงพูดก่อนว่าต้องการ มันจะลดทอนความภูมิใจในตัวเขา และการสูญเสียตัวตนจะทำให้ผู้ชายตีตราผู้หญิงที่พูดว่าตัวเองต้องการทางเพศว่า “แรด” บ้าง “ร่าน” บ้าง

สุดท้ายแล้วผู้หญิงที่ต้องการก็จะต้องทำเป็นปฏิเสธในตอนแรก เพื่อท้าทายให้ฝ่ายชายรุกหนัก และค่อยๆ ยอมไปในที่สุด ซึ่งนั่นจะไปสู่ปัญหาร้ายแรงตามมา ที่เราจะพูดข้อต่อไป

2. ผู้หญิงที่ไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์พอปฏิเสธ ก็จะโดนมองว่า “เล่นตัว”

เมื่อ 4 ปีก่อน หลายคนคงจำโฆษณาของถุงยางอนามัยแบรนด์หนึ่งที่บอกว่า “28% ของผู้หญิงที่ขัดขืน แต่สุดท้ายก็ยอม” เพราะค่านิยมในข้อหนึ่ง ทำให้ผู้ชายตีความเข้าข้างตัวเองว่าการบอกว่าไม่คือการขัดขืนพอเป็นพิธี

ภาพตจาก faceblog.in.th

นั่นแปลว่าสุดท้ายแล้วผู้หญิงไม่มีสิทธิมีเสียง จะบอกว่า “ใช่” ก็ดูไม่ดี จะบอกว่า “ไม่” อีกฝ่ายก็ไม่เชื่อ สุดท้ายแล้วผู้หญิงก็จะถูกลดคุณค่าให้เป็นเพศที่อ่อนแอ ทำได้แค่เรียกร้องให้ผู้ชายมาเติมเต็ม

3. ผู้หญิงไม่มีพื้นที่แสดงออกทางเพศ

ในขณะที่ผู้ชายมีโลกแฟนตาซีที่สามารถปลดปล่อยความต้องการในพื้นที่ส่วนตัวทางเพศตามเว็บไซต์ต่างๆ ที่หาได้ไม่ยากนัก pornography สำหรับผู้หญิงจริงๆ กลับมีน้อยมาก และพื้นที่เติมเต็มความฝันตรงนั้นกลับเป็นฉากในสื่อกระแสหลัก ที่ดูสมจริง ต่างจาก pornography วางตัวชัดเจนว่าเป็นโลกสมมุติ

แต่เพราะการเติมเต็มความฝันลึกๆ มันดูสมจริง มันก็บ่มเพาะให้ผู้ชายจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าทำแบบในละครหรือสื่ออื่นๆ กับผู้หญิงแล้วผู้หญิงจะชอบจริงๆ

ถึงอย่างนั้น เรายังไม่หมดหวัง ค่านิยมชายเป็นใหญ่ ณ ปัจจุบันกำลังสั่นคลอน ด้วยพลังของอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย สื่อดังกล่าวเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออก ที่คนโฟกัสการถกเถียงที่แนวคิดมากกว่าการโจมตีตัวบุคคล การใช้รูปอวตารหรือชื่ออื่นๆ ทำไม่ถูกกดดันจากสายตาคนรอบข้าง และคนอื่นๆ สามารถเข้ามาสนับสนุนความคิดจากการกดถูกใจ และส่งต่อข้อความนั้นๆ สนับสนุนกันและกัน

 ในรอบปีที่ผ่านมา มีปรากฎการณ์ผู้หญิงแสดงพลังของตัวเองมากมาย เห็นชัดที่สุดก็คงเป็นโลกออนไลน์ อย่างเช่นกระแส #Me Too ที่เป็นกำลังใจให้ผู้หญิงกล้าออกมาพูดประสบการณ์การถูกล่วงละเมิดทางเพศของตัวเอง โดยเฉพาะการถูกกระทำจากผู้ชายที่มีหน้ามีตาในสังคม เช่นเดียวกับการสำรวจของเว็บไซต์ pornhub ก็พบว่าผู้หญิงเข้ามาเสิร์ชด้วยคำว่า porn for women มากกว่าปีที่แล้วถึง 1,400 เปอร์เซนต์

ส่วนในเมืองไทย เราเห็นการเติบโตของเพจที่ขับเคลื่อนประเด็นเฟมินิสต์อย่าง Thaiconsent และ Free From Fear เป็นที่พูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับการที่ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยออกมาวิจารณ์การ์ตูนของเพจผู้ชายใส่แว่น ที่ทางแอดมินต้องขอโทษและลบโพสต์อีกหลายครั้ง

นั่นแสดงให้เห็นว่าถ้ามีพื้นที่ที่ปลอดภัยให้แสดงออก ไม่ถูกกดดันจากสายตาของอำนาจใดๆ ทุกคนพร้อมส่งเสียงของตัวเอง

โลกที่หมุนไป ในที่สุดค่านิยมเก่าและล้าสมัยจะหมดไป เพื่อถูกค่านิยมใหม่ๆ มาแทนที่แต่กว่าจะถึงวันนั้น ขอให้คนที่เชื่อเรื่องความเท่าเทียมทางเพศไม่หยุดส่งเสียงของตัวเอง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *