คนไทยไม่ได้บ้าเลือด ความต้องการโทษประหาร สะท้อนอะไรในสังคมไทย

คนไทยไม่ได้บ้าเลือด ความต้องการโทษประหาร สะท้อนอะไรในสังคมไทย


ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ การถกเถียงกันในโลกออนไลน์ว่าสังคมไทยควรหรือไม่ควรที่จะมีโทษประหาร

คือ… อยู่ดีๆ คงไม่มีใครอยากเห็นคนอื่นถูกฆ่าตายหรอกจริงมั้ย? แต่การเรียกร้องให้มีโทษประหารชีวิตในตอนนี้ มันกำลังสะท้อนภาพ “ความหวาดกลัว” ที่ประชาชนมีต่อการใช้ชีวิตในแต่ละวัน

เราไม่สามารถแน่ใจได้เลยว่าคนที่เดินสวนกับเราอยู่นี่ผ่านอะไรมาบ้าง? เรามองเห็นฆาตกรที่ได้รับโทษไม่กี่ปีแล้วก็ถูกปล่อยตัวออกมาใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น แล้วกลับก่อเหตุซ้ำอีก

เราไม่เชื่อว่าคุกจะสามารถบำบัดผู้ต้องขังได้จริงๆ เพราะงั้นบางทีเหยื่อรายต่อไปอาจเป็นญาติ พี่ น้อง ครอบครัว ของใครก็ได้ ถ้าคุกบำบัดคนให้เป็นคนดีไม่ได้ดังนั้นให้ฆาตกรพวกนี้ถูกประหารไปนั่นก็ดีกว่าให้คนที่เรารักกลายเป็นผู้โชคร้าย

กลับกันถ้าผู้กระทำเป็นลูกคนมีเงินหรือมีอำนาจ อย่างลูกชายกระทิงแดงต่อให้ฆ่าตำรวจตายทุกวันนี้ก็ยังสามารถใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองนอกได้ปกติ คนรวยจะฆ่าเสือดำก็ไม่เห็นถูกลงโทษอะไร ทหารยิงนักกิจกรรมตายทุกวันนี้ก็ยังไม่เปิดเผยภาพจากกล้องวงจรปิด

ประชาชนคนไทยทนมองเห็นความอยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคมมากมาย เราได้แต่ทนกล้ำกลืน และ ก้มหน้ายอมรับมัน ภาพความกลัวที่สะท้อนความไม่เชื่อมั่นในระบบยุติธรรมของประเทศไทยมันยิ่งใหญ่มากจนทำให้คนส่วนหนึ่งต้องการโทษประหาร เพราะ เป็นภาพแทนของการจัดการที่เด็ดขาด และพวกเขาคิดว่านี่คือความยุติธรรม นี่คือการลงโทษที่อาชญากรควรได้รับ หลังจากความรู้สึกที่ว่ามีหลายคนรอดพ้นไปอย่างไม่เป็นธรรม

ซึ่งอันที่จริงแล้วผู้ที่เห็นด้วย และ ไม่เห็นด้วยกับโทษประหารมีความหวาดกลัวเรื่องเดียวกัน ในประเด็นความไม่เชื่อมั่นในระบบความยุติธรรมของบ้านเรา

เมื่อเจ้าหน้าที่ภาครัฐไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่าระบบกฎหมายไทยมีความเป็นธรรม ปัจจุบันยังมีการใช้กฎหมายเล่นงานผู้ที่เห็นต่างจากภาครัฐให้เห็นอยู่

หลายคนอาจพูดว่าถ้าเป็นคนดีจะไปกลัวอะไร … ? แต่มันไม่ง่ายแบบนั้น

เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า วันหนึ่งนักโทษการเมืองผู้เรียกร้องประชาธิปไตยจะไม่ต้องโทษถูกประหารชีวิต เราเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมขนาดไหน…ก็ในเมื่อแค่แชร์ข่าวที่มีคนแชร์หลายพันคน แต่กลับมีคนเพียงคนเดียวถูกตัดสินจำคุก เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าต่อไปกรณี”พิเศษ”แบบนี้จะไม่ถูกตัดสินรุนแรงถึงโทษประหาร

คนฐานะไม่ร่ำรวย ไม่มีเงินประกันตัว ไม่มีเงินจ้างทนายมือเก่งๆ หรือเป็นคนที่กระด้างกระเดื่องต่อภาครัฐก็รับโทษไป ส่วนคนมีตังค์มีอำนาจก็นอนสบายอยู่เมืองนอก ดั่งคำว่า “คุกไทยมีไว้ขังหมากับคนจน”… สิ่งนี้มันทำให้คนหวาดกลัว และ ไม่มั่นใจต่อระบบยุติธรรมไทย

ข้อถกเถียงประเด็นเรื่องสังคมไทย “ควรมี หรือ ไม่ควรมี” โทษประหาร สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยต้องการระบบยุติธรรมที่เป็นธรรม

เราต้องการกฏหมายที่ไม่ว่าเป็นคนใหญ่คนโตขนาดไหน หากทำผิดก็ต้องรับโทษตามกฎหมาย ไม่มีการลดหย่อนโทษ และ ผู้คนที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมายก็ไม่ควรโดนใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งรังแก

เราต้องการให้กระบวนการบำบัดผู้ต้องขังสามารถทำงานได้อย่างแท้จริง มีกระบวนการที่สามารถส่งผู้ต้องโทษกลับเข้าสู่สังคมได้อีกครั้ง มีงานสุจริตทำ เลี้ยงตัวเองได้จะได้ไม่ต้องหันกลับมาประกอบอาชญากรรมอีก ซึ่งในทุกวันนี้มันยากที่จะให้เจ้าของกิจการไว้วางใจว่านักโทษได้รับการบำบัดกลับตัวกลับใจได้แล้วจริงๆ เพราะไม่มีกระบวนการใดๆ จากภาครัฐที่ทำให้ประชาชนไว้วางใจในจุดนี้ได้เลย

เราอยากใช้ชีวิตเดินถนนได้อย่างปลอดภัย ไม่ต้องห่วงว่าเดินๆ อยู่จะมีใครก็ไม่รู้ มาจี้ ปล้น ข่มขืน ฆ่า

สิ่งเหล่านี้คือโจทย์ที่เราต้องทำควบคู่กันไปซึ่งเป็นปัญหาที่ทับถมกันอยู่เหมือนกองภูเขาขยะที่ไม่สามารถแก้ได้ที่ปลายยอด สิ่งเหล่านี้สามารถเริ่มแก้ไขได้จากการทำให้กฎหมายเป็นสากล และ ทำให้ระบบยุติธรรมเป็นธรรมอย่างเท่าเทียม ไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกำจัดผู้คิดต่างทางการเมือง และพัฒนากระบวนการบำบัดนักโทษให้มีความน่าเชื่อถือ หากไม่แก้ไขจุดเหล่านี้ การถกเถียงในประเด็นว่าจะให้มีหรือไม่มีโทษประหารคงเป็นเพียงสมการที่ไม่มีวันหาคำตอบได้ เพราะมันเป็นเพียงปลายยอดของภูเขาโสโครกนี้ที่เราทุกคนต่างหวาดกลัว…

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *