“ระบบการศึกษาไทยมีกิจกรรมเสริมระเบียบวินัยอยู่เยอะแล้ว แต่มีกิจกรรมส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์เพียงพอหรือยัง”
ทุกเช้าเราต้องยืนเป็นระเบียบเรียบร้อยเรียงลำดับความสูง ตามห้องเรียน ยืนตัวตรงเคารพธงชาติ สวดมนตร์ด้วยภาษาที่เราไม่เข้าใจความหมาย แผ่เมตตา เสร็จแล้วต้องตรวจผมอยู่กลางแดดเมืองไทยอันร้อนระอุ ฟังผู้อำนวยการพูดอะไรก็ไม่รู้ …
วันวันหนึ่ง เราเสียเวลาให้กับกิจกรรมเหล่านี้นับชั่วโมง… เวลาเพียงหนึ่งชั่วโมงต่อวันนี่แหละที่เพื่อนผมเอาไปใช้ฝึกพูดภาษาอังกฤษสำเนียงบริติชเป็นประจำทุกวันกระทั่งพูดได้เหมือนเจ้าของภาษา แล้วการต่อแถวเคารพธงชาติอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่อนุบาลถึงชั้น ม.6 ให้อะไรแก่ผมนอกจากความเหนื่อยล้า … การศึกษาไทยให้คุณค่าต่อเวลาของผู้เรียนน้อยเกินไปมาก …
นอกจากการเข้าแถว เคารพธงชาติตอนเช้า ยังมีกิจกรรมเสริมหลักสูตรอีกอย่าง ที่ท่านนายกผู้ที่ผมรักยิ่งสนับสนุน นั่นก็คือวิชาลูกเสือ-เนตรนารี โดยให้เหตุผลว่าจะทำให้เยาวชนรู้จัก “หน้าที่และความรับผิดชอบ”

หน้าที่และความรับผิดชอบก็เป็นสิ่งที่ดี แต่หากมองลึกลงไปการเรียนการสอนในชั้นเรียนปกติ ก็มีการตรวจเครื่องแบบนักเรียน และ เรียกส่งการบ้านตรงตามเวลา นั่นก็ส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว เหตุใดจึงต้องมีกิจกรรมเสริมแบบนี้เพิ่มอีก ยิ่งเพิ่มเยอะยิ่งมีความรับผิดชอบเยอะอะไรแบบนี้เหรอ ฉับพลันภาพสภาอันทรงเกียรติซึ่งปราศจากผู้เข้าร่วมประชุมอันลือลั่นผุดพรายขึ้นมาในมโนสำนึกของผม … ทำไมหน้าที่และความรับผิดชอบจากวิชาลูกเสือที่มีมาเป็นร้อยปีในเมืองไทย ไม่ประทับอยู่ในจิตใจคนเหล่านั้นบ้าง
การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ควรเป็นอย่างไร … สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ให้แนวทางว่า ในยุคนี้ต้องส่งเสริม “ทักษะชีวิต” ลงไปนอกเหนือจากวิชาการด้วย คาบที่ให้นักเรียนออกไปสำรวจธรรมชาติรอบตัว, ทำอาหาร, เข้าค่ายร่วมกับเพื่อนๆ สอนทักษะเอาชีวิตรอดต่างๆ ที่สำคัญที่สุดคือ กระตุ้นให้นักเรียนทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม อย่างลูกเสือ-เนตรนารี ก็น่าจะเข้ากั๊น เข้ากัน เป็นปี่เป็นขลุ่ยแล้วนี่
แต่อนิจจา จากประสบการณ์ที่ผมเจอมา วิชาดังกล่าวกลับกลายเป็น การตรวจเล็บ ตรวจเครื่องแบบทั้งผ้าพันคอและเข็มขัดลูกเสือที่ต้องเงาวับเสมอๆ ครูจะเช็คทุกส่วนแม้กระทั่ง“ภู่”ที่ติดอยู่ตรงซอกถุงเท้า ฝึกผูกเงื่อนพิรอด แหกปากร้องรอบกองไฟว่า อาคีร่า เราจะทำดีที่สุด อยากรู้จังว่าสิ่งเหล่านี้สำคัญอย่างไรต่อความเจริญก้าวหน้าของโลกในศตวรรษที่ 21 นอกจากเหตุผลของท่านผู้นำที่ว่า “หน้าที่และความรับผิดชอบ”

ปัญหาคือกิจกรรมเหล่านั้นกลับสั่งสอนและบังคับให้เด็กทำตามสิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องการโดยไม่อนุญาตให้เด็กเข้าใจ เมื่อมีอำนาจมากดข่มเด็กก็จะต้องทำตามเพราะความกลัว กลัวไม้เรียว กลัวโดนตัดคะแนน กลัวโดนเรียกผู้ปกครอง กลัวโดนตัดผม แต่ไม่เคยเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้พูด ได้คิด ได้ตัดสินใจ ซึ่งมันนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่โตมหาศาลคือ ทำให้เด็กไทยไม่รู้ว่าเขาอยากเรียน หรืออยากเป็นอะไรกันแน่ในอนาคต …
มันเลยกลายเป็นเรื่องตลกร้ายที่เด็กไทยเรียนหนังสือในระบบการศึกษามาคนละ 12 ปี แต่ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วตัวเองมีความสุขที่จะอยู่กับอะไรกันแน่ เมื่อเลือกคณะกระแสก็นำไปสู่ปัญหาซ้ำซากกับการสอบใหม่ เลือกคณะใหม่ หรืออดทนเรียนคณะที่ตัวเองไม่ชอบให้จบๆ ไปเพื่อจะไปทำงานอย่างอื่น สิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศชาติสูญเสียทั้งเงินทอง เวลา และภาษีไปอย่างสูญเปล่า
สิ่งที่เราควรต้องทำก่อนคือการลดเวลาที่ใช้ในการสั่งสอนกับเรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบในระบบการศึกษาลง และเอาเวลาไปให้เยาวชนค้นหาตัวเองและเปล่งเสียงแสดงความต้องการออกมา
ในหลายประเทศจะมีช่วงเว้นว่าง 1 ปีหลังเรียนจบที่เรียกว่า “Gap Year” มันเป็นช่วงที่นักเรียนมีโอกาสใช้เวลาทำกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ บ้างก็ไปเป็นอาสาสมัครให้กับมูลนิธิต่างๆ บ้างก็ไปเรียนศิลปะเพิ่มเติม บ้างก็ออกเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ Gap Year ให้โอกาสเด็กได้พินิจพิเคราะห์ถี่ถ้วนว่าตัวเองต้องการอะไร นำไปสู่การเลือกในคณะ/มหาวิทยาลัยที่ใช่ต่อตัวเอง

สำหรับเมืองไทย…ผมมีประสบการณ์สนุกๆ ตอนสอบเอ็นทรานซ์จะเล่าให้ฟัง…ในสมัยผม อาจารย์แนะแนวเป็นคนเลือกคณะให้ บอกเหตุผลแค่ว่าที่นี่คะแนนสูงดี เธอเหมาะสมกับคณะนี้ (แต่เหมาะสมด้วยอะไรนางไม่ได้อธิบาย) ส่วนกลุ่มที่เรียนไม่ค่อยดีนางบอกให้เข้าเอแบคไปเลย ไม่ต้องไปสอบเพราะมันจะฉุดเปอร์เซ็นต์เด็กสอบติดมหาวิทยาลัยของโรงเรียนลง หรือถ้าอยากสอบให้ไปรอสอบปีหน้าเพราะปีหน้าไม่ใช่ ม.6 การสอบติดหรือไม่ติดจะไม่ถูกนำมาคำนวณรวมกับของโรงเรียน … นี่คืออาจารย์แนะแนวแบบไทยๆ …
มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องปฏิวัติด้วยการเปิดพื้นที่ที่ให้อิสระทางความคิด พัฒนาทักษะทางการวิเคราะห์ เสพสื่ออย่างรู้เท่าทัน เวลาเพียง 1 ชั่วโมงต่อวันมันสามารถเปลี่ยนแปลงและสร้างทักษะทางชีวิตที่สำคัญต่อเด็กๆ ได้เลย แทนที่จะต้องมาทำกิจกรรมเสริมหลักสูตร “ภาคบังคับ” อย่างวิชาลูกเสือ
หรืออย่างน้อย ถ้าจะสอนวิชาลูกเสือจริงๆ ก็ขอความสร้างสรรค์หน่อยเหอะ ให้ลูกเสือเป็นพื้นที่ให้นักเรียนได้ทำโปรเจกต์ส่วนตัว เปิดโอกาสให้เขาลองผิดลองถูก ลองทำงานด้วยตัวเอง เพื่อเสริมทักษะชีวิต ไม่ดีกว่าเหรอ?