แก่กว่าแล้วไง? ทำไมความอาวุโสถึงขวางกั้นไม่ให้ประเทศพัฒนา

แก่กว่าแล้วไง? ทำไมความอาวุโสถึงขวางกั้นไม่ให้ประเทศพัฒนา


“คุณเชื่อถือใครสักคนเพียงเพราะเขาแก่กว่าหรือมีเหตุผลที่ดีกว่ากันแน่…”

ตั้งแต่เด็ก… ผมมักถูกสอนว่าประเทศไทยนี่เป็นดินแดนวิเศษที่แสนสงบสุข เราคนไทยทุกคนรักกันดุจญาติสนิท เราสามารถเรียก“ป้า”กับคนขายส้มตำ “น้อง…” กับสาวเบอร์ตอง “ลุง”วิศวกรนักแม่นปืน หรือ “พี่”ช่างแอร์ในตำนาน
เราก็ใช้สรรพนามที่เรียกญาติเรามาเรียกเลย

ด้วยเหตุนี้ เราคนไทยจึงมีความแน่นแฟ้นต่อกัน รักเพื่อนร่วมชาติประหนึ่งญาติสนิทมิตรสหายที่ต้องคอยช่วยเหลือเกื้อกูลกันเหนือกว่าชาติอื่นๆ ที่เรียกันอย่างห่างเหินว่า“ยูว์”… จริงหรือ?

เมื่อเติบโตขึ้นมาความเชื่อและความภาคภูมิใจเรื่อง “ระบบนับญาติ” ที่ผมถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ยังเด็ก ถูกสั่นคลอนมากขึ้นเรื่อยๆ ผมพบว่าระบบดังกล่าวไม่ได้ทำให้เราเป็นญาติกัน แต่กลับเป็นสรรพนามที่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทางสถานะ เช่น คำว่าพี่…น้อง… ก็ให้อำนาจกับผู้เป็นพี่เหนือกว่าน้อง คำพูดจะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าโดยมองข้ามเหตุผลไป สิ่งที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากระบบนับญาติคือ “ระบบอาวุโส”

ชาวไทยให้ความสำคัญกับระบบอาวุโสมาก สังคมเรานับถือผู้สูงอายุเพราะถือว่าเขาผ่านอะไรมาเยอะ มีประสบการณ์สูงก็น่าจะนำเสนออะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ผู้ใหญ่ย่อมต้องให้การคุ้มครอง ดูแล ผู้น้อย และ ผู้น้อยย่อมต้องเชื่อฟังและทำตามผุ้ใหญ่ พอระบอบนี้ไปผสมผสานกับระบบทุนนิยม สมาชิกในสังคมจึงเกิดการเกื้อกูลกัน และ พัฒนาต่อมาเป็น“ระบอบอุปถัมภ์” ขึ้น จนกระทั่งในอดีตเรามีนายกรัฐมนตรีที่ยืนอยู่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นจุดสูงสุดของระบอบอุปถัมภ์คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภาพจาก https://www.thairath.co.th/

สิ่งที่น่ากังวลใจของระบอบอุปถัมภ์คือ ไม่สามารถตรวจสอบได้ (ก็เด็กจะไปตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้ใหญ่ได้ยังไงล่ะ ผู้ใหญ่มักจะทำในสิ่งที่ดี สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเสมอแหละ) จนทำให้เกิดกฎหมายอย่างมาตรา 17 ขึ้น มาตรา 17 นี่ให้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จแก่นายกรัฐมนตรีสามารถตัดสินประหารชีวิตประชาชนได้ โดยไม่ต้องฟ้องร้อง ไต่สวน ขึ้นศาล เอาเป็นว่าถ้าท่านเห็นว่าผิดก็ต้องผิด เห็นว่าสมควรตายก็ต้องตายนั่นแหละ

การตรวจสอบไม่ได้นี่เองก็นำไปสู่การคอรัปชั่นได้อย่างง่ายดาย … จอมพลสฤษดิ์ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหารเพื่อปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ตอนเสียชีวิตกลับมีเงินสดอยู่ถึง 2,800 ล้านบาท รวมกับที่อีกจำนวนมหาศาล ตีเป็นเงินปัจจุบันก็มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท นั่นคือหนึ่งในผลของการดำรองอยู่ของระบอบอุปถัมภ์ที่ไม่อนุญาติให้ผู้น้อยตั้งคำถาม และ ค้นหาความโปร่งใสในสังคมไทย ซึ่งระบอบนี้ถูกปลูกฝังแก่เด็กไทยผ่านระบบต่างๆ ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือระบบการศึกษา

ระบบการศึกษาไทยให้อำนาจกับครูและรุ่นพี่ในการใช้อำนาจกับผู้น้อยโดยเลือกจะมองข้ามมิติเชิงสิทธิมนุษยชนไป ตัวอย่างเช่น คุณครูบางโรงเรียนมีสิทธิ “ตัดผม” นักเรียนให้เป็นทรง “หมาแทะ” มีสิทธิตัดกระโปรงนักเรียนเมื่อคิดว่าเธอใส่มาสั้นเกินไปเป็นต้น พฤติกรรมเหล่านี้เป็นการแสดงอำนาจเหนือกว่าทางร่างกายในนามของ “ความเป็นระเบียบเรียบร้อย”

นอกจากนี้ ระบบโซตัสทำให้ “รุ่นพี่” ที่แก่กว่ารุ่นน้องเพียง 1-2 ปี เป็นวัยรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยซ้ำ วางตัวเป็นผู้มีประสบการณ์และใช้อำนาจบังคับรุ่นน้องให้เกิด “ความรัก ความสามัคคี และเคารพรุ่นพี่” ระบบเหล่านี้ไม่มีเหตุผลใดๆ มารองรับ มีเพียงอำนาจและประเพณีที่ทำตามๆกันมาเท่านั้นที่รับรองมันอยู่

คำถามสำคัญคือเรายินยอมปล่อยให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพียงเพราะคำว่า“ผู้มีอาวุโสมากกว่า” เท่านั้นหรือ ?

หลายครั้งที่ระบอบอุปถัมภ์ทำให้เราเชื่อถืออะไรบางอย่างโดยละเลยการหาเหตุผลมาคัดคานกัน บางครั้งนำไปสู่การปิดกั้นไม่ยอมรับฟังเหตุผลของผู้ที่ด้อยอาวุโสกว่า ในอดีตระบบนี้อาจจะเวิร์ค เพราะองค์ความรู้ยังไม่แพร่กระจายอย่างทั่วถึง ผู้มีอายุมากกว่าย่อมรู้อะไรมากกว่าเพราะความรู้ถูกจำกัดไว้ในวงแคบๆ แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปอย่างชัดเจนนับตั้งแต่อินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาท

ความรู้มากมายถูกเผยแพร่ทางโลกออนไลน์ ตำราวิชาการจำนวนมหาศาลก็เข้าถึงได้อย่างง่ายดาย องค์ความรู้ไม่ถูกจำกัดไว้สำหรับเพียงอภิสิทธิ์ชนอย่างในอดีตอีกต่อไป มันน่าเสียดายที่เราจะละเลยการถกเถียงด้วยเหตุผลเพียงเพราะคำว่า“อาวุโส” มันน่าเสียดายที่เราจะยินยอมให้เหตุผลดีๆ ที่น่าจะนำไปใช้พัฒนาประเทศได้ถูกละเลยไปเพียงเพราะคำว่า “เด็กกว่าจะไปรู้อะไร”



สิ่งสำคัญคือเราจะแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตและสังคมได้อย่างไร โดยไม่ให้มี“อคติ” และ “อารมณ์” มาขวางกั้น เรายอมรับได้หรือไม่…ถ้าคนที่ถกเถียงกับเรานั้นเด็กกว่า แต่สามารถให้เหตุผลกับเรื่องบางอย่างได้น่าฟังและมีประโยชน์แม้จะขัดแย้งกับเรา เราจะยอมรับได้หรือไม่ว่าสิ่งที่เรารู้มาตลอดหลายสิบปีนั้นไม่ถูกต้องหรือล้าสมัยไปแล้ว
แค่เพียงลดอคติในจิตใจ เปิดหู เปิดตา รับฟังผู้อื่นในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน…เราหนึ่งคนค่อยๆ เปลี่ยนแปลงมัน หลายคนเห็นด้วยแล้วเข้าร่วมกลายเป็นพลังเพื่อสร้างพื้นที่แห่งการถกแถลงโดยปราศจากอคติและอารมณ์…

เราทุกคนเลือกได้ว่าจะนำพาสังคมไปสู่สังคมอุดมปัญญาหรือสังคมอุดมผู้สูงอายุ เพียงรู้เท่าทันอคติภายในจิตใจเราเท่านั้น …

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *