สังคมอุดมน้ำใจ หรือ romanticize การ “ผลักภาระ”

สังคมอุดมน้ำใจ หรือ romanticize การ “ผลักภาระ”


เพราะเมืองไทยเป็นเมืองพุทธด้วยหรือเปล่านะ? คนไทยถึงนิยมทำบุญ ทำทานกัน เหมือนยึดเป็นมาตรฐานแห่ง “ความดี” แบบพื้นฐาน เป็นที่นิยม ไม่ว่าจะวันเกิด หรือวาระพิเศษใดๆ ต้องได้ทำบุญก่อน แน่นอนว่ามันก็เป็นเรื่องที่ดีนะ ไม่ว่าบุญนั้นจะเข้าวัดเข้าโบสถ์
เพื่อทำนุบำรุงกิจกรรมของศาสนานั้นๆ หรือเจียดไปให้คนจน คนชายขอบ คนบนดอย หรือคนในซอกหลืบสังคมบ้างแล้วแต่วาระ แล้วแต่ป้ายที่ตู้ทาน
แต่การทำบุญทำทาน ถ้าทำมากไปทำแบบไม่คิดอะไรรอบคอบเลย การเป็นสังคมที่อุดมการ “ให้” แบบนี้มันก็เป็นดาบสองคม และสามารถสร้างปัญหา “เชิงระบบ” ได้เหมือนกัน

แม้สังคมนี้จะเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ มีคนจน คนด้อยโอกาสอยู่เกินค่อนประเทศ รวยกระจุกจนกระจายจนดันประเทศไทยขึ้นเป็น(1)ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลกในปีพ.ศ.2561 แต่ก็ยังดีที่คนไทยเรามีน้ำใจ มีคนที่พร้อมหยิบยื่นให้ทาน แบ่งปันแก่ผู้ที่ขัดสนกว่าอยู่เรื่อยๆ หลายองค์กรผุดโครงการบริจาคนั่นนี่อยู่ตลอดเวลาที่นอกจากจะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์แก่องค์กรแล้วก็ยังมีประโยชน์แก่ผู้ร่วมสังคม

ไม่ว่าจะคนรวยไปถึงชนชั้นกลาง คนไทยพร้อมใจบริจาค เพราะอย่างน้อยก็ยังมี “คนที่เขาลำบากกว่า” อยู่เสมอ แต่ในขณะที่บริจาคอยู่ตลอดชีวิต คนจนในประเทศไทยก็ไม่เคยลดลง คนที่ลำบากกว่ายังคงสบายแค่ชั่วระยะสั้นๆ พอทัวร์บริจาคกลับไป ของที่ให้ เงินและอาหารที่บริจาคมาหมด อุปกรณ์ทันสมัยต่างๆ พอพังไปตามอายุการใช้งาน ก็กลับไปขัดสนอยู่แบบเดิม ในขณะที่คนบริจาครู้สึกฟินๆ รับบุญ กลับบ้านแล้ว ก็ไม่ได้ขบคิดต่อไปเลยว่า

ทำไมนะ…คนขัดสน ด้อยโอกาสถึงยังไม่หมดสักที

แม้บนดอย ในหมู่บ้านชนบทห่างไกลสายตารัฐหรือองค์กรสังคม จะยังไม่มีแม้ไฟฟ้าใช้ จนคนในหมู่บ้านแทบไม่รู้จักโลกภายนอก แค่ใช้ชีวิตหาเช้ากินค่ำให้มีลมหายใจไปวันๆ แต่พอเข้าฤดูหนาวเมื่อไหร่ อย่างน้อยก็ไม่ต้องซื้อผ้าห่มเพิ่มทุกครัวเรือน เพราะมีคนในเมืองขนผ้าห่ม เสื้อผ้ากันหนาวขึ้นไปบริจาค แต่พอหมดหน้าหนาวก็ลำบากเหมือนเดิม

หรือแม้ในซอกหลืบของสังคมจะมีคนแก่ติดอยู่ในบ้านไม่มีคนเลี้ยงดู มีคนป่วยเป็นมะเร็งที่มีญาติเป็นผู้พิการคอยดูแล มีคนแก่ไร้สวัสดิการสังคมป่วยหนัก ลำพังเงินเบี้ยเลี้ยงคนชราก็แค่ 600 บาทต่อเดือน ที่ลูกเต้าก็ยังต้องปากัดตีนถีบอยู่ในเมืองกรุงฯ มีเงินส่งเสียมาถึงแค่เดือนละพันสองพัน หรือมีอีกกี่ชีวิตที่สิ้นหวังและไม่เคยมีแสงส่องมาถึง ประเทศไทยเราก็ยังมี “ฮีโร่” เสมอ

ไม่ว่าจะรายการแข่งขันร้องเพลงที่เปิดโอกาสให้แม้กระทั่งเด็กมาแข่งแลกเงินไปช่วยเหลือครอบครัวได้ไม่กี่เฮือก หรือฮีโร่ที่เป็นบุคคลเดินดินที่มีใจเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ คอยเข้าไปเยี่ยมเยียนคนจน แก่ ป่วย พิการ เหล่านี้ถึงบ้าน และถ่ายทอดเรื่องราวรันทดออกมาสู่สังคมพร้อมเปิดรับบริจาค ที่นอกจากจะเป็นการช่วยให้เม็ดเงินจากผู้บริจาคเข้าถึงผู้ที่ขัดสนโดยตรง ยังเป็นการบ่มเพาะใจที่เมตตาขี้สงสาร และทัศนคติแห่งการ “ให้” ลูกเดียวเข้าไปในใจของคนไทยมากขึ้นไปอีก

และในขณะเดียวกัน “น้ำใจ” เหล่านี้ยังไปถึง “รัฐบาล” ด้วย เพราะรัฐแทบจะไม่ต้องจัดการอะไรเลย เพราะไม่มีใครเรียกร้องให้มี “รัฐสวัสดิการ” มีคอยดูแลรับผิดชอบคนเหล่านี้ ความบกพร่องในสวัสดิการการดูแลผู้ป่วย ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ฯลฯ ไม่ต้องถูกจัดการอีกต่อไป รัฐบาลงานน้อยลง รู้สึกสบายๆ ในการเพิกเฉยประชาชนมากขึ้น รัฐบาลเบาใจได้มากขึ้น เอาเงินไปเติมตรงอื่นได้มากขึ้น โดยเฉพาะตรงที่ไม่เกี่ยวกับสวัสดิการและผลประโยชน์ของประชาชน

หรือแม้แต่งานของรัฐบาล หน้าที่ของกระทรวงฯ หน่วยงานรัฐต่างๆคนไทยก็ยังใจดีช่วยแบ่งเบาภาระให้โดยไม่ต้องพึ่งเงินรัฐฯ เลยก็ยังได้ แค่มี “น้ำใจ” ก็เพียงพอ

ดูอย่าง “พี่ตูน” ที่มีใจล้วนๆ กับยอมสละแรงกายวิ่งทั่วประเทศเพื่อเรี่ยไรเงินจากประชาชนตามรายทางไปเป็นเงินช่วยโรงพยาบาลต่างๆ ที่เงินไม่ถึง ประชาชนตามรายทางที่ปกติก็เสียภาษีต่างๆ เพื่อให้ถูกจัดการไปถึงระบบสาธารณสุขด้วยอยู่แล้ว ก็ยังมีน้ำใจช่วยจ่ายเงินเพิ่มให้รัฐบาลผ่านทางพี่ตูนนี่แหละ เพราะสุดท้ายแล้วเงินที่เข้าโรงพยาบาล ก็ควรจะเป็นงบ
ที่ถูกจัดสรรมาจากรัฐฯอยู่แล้ว เท่ากับว่าคนที่พี่ตูนช่วยอยู่ ความจริงแล้วไม่ใช่โรงพยาบาล หรือคนป่วยในชุมชนนั้นๆ โดยตรง แต่พี่ตูนกำลังช่วยรัฐบาลอยู่เต็มๆ

หรือแม้กระทั่งน้ำท่วม ก็มักจะมี “คุณบิณฑ์” ไปถึงบ้านประชาชนก่อนหน่วยงานรัฐจะกระดิกอีกต่างหาก นอกจากจะมีน้ำใจช่วยแบ่งเบาหน้าที่การใส่ใจดูแลประชาชนแทนรัฐฯแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปช่วยกันจ่ายภาษีเพิ่มเพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนด้วยกันยามเกิดอุทกภัย โดยมีคนไทยรวยน้ำใจจ่ายภาษีเพิ่มผ่านทาง(2)คุณบิณฑ์ถึงกว่า 400 ล้านบาทในเหตุการณ์น้ำท่วมที่ภาคอีสานเมื่อปีที่แล้ว

สุดท้ายพอเกิดการบูชาฮีโร่ใจบุญ นอกจากจะติดนิสัยบูชาตัวบุคคลหนักขึ้นไปอีก พอเกิดเหตุอะไรขึ้นก็พากันแท็กเรียกฮีโร่ก่อนเลย หรือไม่ก็สถาปนาตัวเองเป็นหมู่คณะฮีโร่ พากันเป็น “ไทยช่วยไทย” ช่วยตัวเองวนๆไปแบบนี้ รัฐฯ เงินเหลือบาน แต่ก็ไม่คิดว่าจะต้องเจียดเงินมาถึงประชาชนแต่อย่างใด เพราะคนไทยช่วยกันเองเก่งอยู่แล้ว และแทนที่คนไทยจะเกิดการตระหนักถึงปัญหาเชิง “ระบบ” ที่ทำให้วงจรแห่งความเหลื่อมล้ำยังคงดำเนินต่อไปหรือตระหนักว่ารัฐบาลควรมีสวัสดิการที่ดูแลประชาชนทุกสภาพอย่างครอบคลุม ทั่วถึง ไม่ว่าจะเจ็บ จน แก่ หรือมีภัยอะไร จนกล้าที่จะทักท้วงสิทธิ และคุณภาพชีวิตอย่างที่ประชาชนพึงได้รับให้เหมาะสมกับภาษีที่จ่ายไป รัฐบาลก็ยิ่งได้ใจ ดีใจที่คนไทยใจบุญเลยทำหน้าที่แค่สนับสนุนให้ประชาชน “บริจาค” กันเองดูแลกันเองไปเรื่อยๆ แล้วหอบภาษีเราไปทำอย่างอื่น

แท้จริงคนที่เราควรช่วยมากที่สุดไม่ใช่ “รัฐบาล” ด้วยการรับหน้าที่ดูแลประชาชนกันเองมาจากมือรัฐบาล แต่เป็นประชาชนคนไทยด้วยกันนี่แหละ ที่ต้องการความดูแลอย่างยั่งยืนจากรัฐฯ

ความมีน้ำใจ มีจิตเป็นผู้ให้ มีใจเมตตานั้นดี แต่การให้ที่กอปรด้วยวิจารณญาณ และการคิดเชิงระบบต่อไปอีกหลายๆ ขั้น อาจทำให้คนไทยดูแลกันและกันได้อย่างยั่งยืนมากกว่า
การมองเห็นและตระหนักว่ามีคนอีกมากมายที่ยังลำบาก และรอการช่วยเหลืออีกมาก น่าจะทำให้เห็นได้ชัดไม่ใช่เหรอ ว่าแท้จริงคนที่เราควรช่วยมากที่สุดไม่ใช่ “รัฐบาล” ด้วยการรับหน้าที่ดูแลประชาชนกันเองมาจากมือรัฐบาล แต่เป็นประชาชนคนไทยด้วยกันนี่แหละ ที่ต้องการความดูแลอย่างยั่งยืนจากรัฐฯ ที่ควรทำหน้าที่ของตัวเอง จัดสรรรัฐสวัสดิการที่เท่าเทียมและทั่วถึง ให้คนเจ็บ จน แก่ พิการ รวมถึงทุกๆ คนในประเทศ ให้ได้รับการดูแลจนเบาใจได้ ว่าไม่ว่าชีวิตจะดำเนินไปในทิศทางไหน ภาษีที่จ่ายไปทั้งชีวิตจะสามารถเป็นเบาะนุ่มๆ รองรับไว้ได้เสมอ โดยไม่ต้องรอพึ่งใบบุญจากฮีโร่ชั่วคราว ที่ให้แล้วฟิน บริจาคแล้วจบ คนจนหายจนแค่วันสองวันแล้วก็ลืมตาอ้าปากไม่ได้เหมือนเดิมตลอดชีวิต


อ้างอิงข้อมูล

1-https://www.thairath.co.th/news/society/1438630

2-https://news.thaipbs.or.th/content/284790

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *