“รายการวาไรตี้ไทย” ตัวปลูกฝังการ romanticize ความยากจน และฉวยโอกาสขายภาพนักบุญจากรัฐสวัสดิการที่ไร้ประสิทธิภาพ

“รายการวาไรตี้ไทย” ตัวปลูกฝังการ romanticize ความยากจน และฉวยโอกาสขายภาพนักบุญจากรัฐสวัสดิการที่ไร้ประสิทธิภาพ


“คุณผู้ชมครับ ชีวิตคนเราเกิดมาเพราะมีภารกิจบางอย่างที่ต้องสะสาง ในทางพุทธศาสนาเรียกสิ่งนั้นว่า ‘กรรม’ครับ”

รายการวาไรตี้โทรทัศน์ช่องหนึ่งในประเทศไทยที่เอาคนยากไร้ มีหนี้ ป่วย พิการ มาเล่นเกมแลกเงิน

พิธีกรท่านหนึ่งกล่าวประโยคข้างต้นเพื่อปิดท้ายรายการวาไรตี้รายการหนึ่ง ที่เนื้อหาคือการเชิญครอบครัวคนยากจน มีหนี้ ป่วย หรือพิการมาเล่นเกมเพื่อชิงเงินรางวัลไปต่อชีวิต หรือแก้ปัญหาการเงินในครอบครัว
ซึ่งรายการนี้ไม่ใช่รายการเดียวบนทีวีไทยที่เชิญคนจน ป่วย พิการมาเล่นเกม ร้องเพลง แสดงความสามารถ หรือทำอะไรสักอย่างเพื่อแลกเงินไปต่อลมหายใจซึ่งนอกจากบ่งบอกว่าบ้านเรานี้มีคนที่ยากจน อยู่ในหลืบสังคมที่ห่างไกลจากสายตารัฐฯ จนชีวิตสิ้นหวังจนยอมมาเล่นเกมโชว์ นั่งร้องไห้ และเล่าความคับแค้นของชีวิตออกอากาศให้คนทั้งโลกฟัง เพื่อแลกกับเงินไปต่อลมหายใจได้เพียงสั้นๆ อยู่มากแค่ไหน ยังแสดงให้เห็นความเลวร้ายของการขาดแคลนความสามารถและใจที่จะมองเห็น “ปัญหาเชิงระบบ” ของคนไทยอย่างสิ้นเชิง

รายการเหล่านี้ปลูกฝังการชื่นชมความยากจนที่กอปรด้วย “ความดิ้นรนพยายาม” เหมือนแขกรับเชิญที่ชีวิตยากลำบาก มีหนี้ล้น เป็นเครื่องสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ชมทางบ้านดิ้นรนพยายามสู้ชีวิตในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับหนึ่งของโลกต่อไปในขณะที่รายการแข่งขันร้องเพลงหรือโชว์ความสามารถของเมืองนอก อย่างอเมริกา มีเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนออกมาฉายแววพรสวรรค์และความสามารถให้โลกเห็นเพื่อเปิดรับโอกาสการได้เอาดีในสิ่งที่ตนเก่งกาจ แต่สำหรับประเทศไทยการแข่งขันร้องเพลงแบบวาไรตี้วันเดียวจบได้เงินกลับบ้าน สิ่งที่กรรมการโฟกัสมากกว่า “ความสามารถ” กลับเป็นเรื่องราวการต่อสู้กับความลำบากยากจนในชีวิตของผู้เข้าแข่งขัน

ไม่ว่าจะเป็นความลำบากของตนคนเดียว เช่นตกงาน เป็นหนี้ อยากหาเงินไปรักษาโรคเรื้อรังของตน หรือความสิ้นหวังของทั้งครอบครัว ที่มีคนแก่ ป่วย พิการในครอบครัวที่ไม่สามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ แถมรายได้ในครอบครัวก็ไม่พอยาไส้ได้ครบทุกคน

ในคำพูดและน้ำเสียงเหมือนเปี่ยมไปด้วยความเห็นใจของพิธีกรและกรรมการที่พยายามให้กำลังใจ ก็ยังมีการย้ำซ้ำไปซ้ำมา ว่าคนป่วย แก่ พิการในครอบครัวนั้นเป็น “ภาระ” ของคนในครอบครัวเอง…หาใช่การถูกละเลยจากรัฐฯ ที่ล้มเหลว

ทั้งยังตัดจบปิดโอกาสการตั้งคำถามถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม ปัญหาของนโยบายการช่วยเหลือคนว่างงาน แนวทางการส่งเสริมอาชีพที่ดูดีแค่ในPresentation และปัญหาของรัฐสวัสดิการที่ไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิงจนปล่อยให้ประชาชนที่ป่วย แก่ พิการ ในครอบครัวรายได้ต่ำที่ไม่มีกำลังดูแลเป็นภาระของครอบครัวเอง ด้วยการชื่นชมความ “ใจสู้” ของผู้เข้าแข่งขัน ทั้งในการสู้ในเกมเพื่อแลกเงินหลักหมื่น และในการต่อสู้ชีวิตที่แสนสิ้นหวัง ซึ่งมีเหตุมาจาก “กรรม” ที่ติดตัวมาตั้งแต่ชาติปางก่อน…หาใช่การถูกละเลยจากรัฐฯที่ล้มเหลว

จริงๆแล้วความโหดร้ายของรายการวาไรตี้เหล่านี้ไม่ได้ต่างกันเลยกับในวรรณกรรมเรื่อง “The Hunger Games” ที่ให้เยาวชนผู้โชคดีจากครอบครัวในถิ่นทุรกันดารเข้าเมืองมาแข่งขันเอาชนะกันเพื่อได้รับชัยชนะและเงินรางวัลกลับบ้าน โดยที่สิ่งที่ “แคปปิตอล” ขายมากกว่าการเล่นเกมคือ “ชะตาชีวิต” ที่น่าอดสูของเหล่าผู้แข่งขัน ให้ผู้ชมได้ดราม่าน้ำตาไหล แสดงความเห็นอกเห็นใจให้ได้เป็นการบริหารต่อมมนุษยธรรม ที่สุดท้ายแล้วก็ยังยินดีที่จะได้ดูคนที่น่าเห็นใจเหล่านั้นเล่นเกมเอาชนะกันเพื่อได้ต่อลมหายใจอยู่ดี เพราะ Message จริงๆ ที่รายการเกมต้องการบอกสังคมคือไม่ว่าประชากรจะสู้แค่ไหนก็ยังต้องอยู่ใต้เท้าของรัฐบาล

เพราะทุกวันนี้ผู้เข้าแข่งขันหาเงินต่อชีวิตคนในบ้านในรายการวาไรตี้ไทยก็อายุน้อยลงทุกทีๆ และสุดท้ายหลังจากที่ได้เอาดราม่าความน่าอดสูในครอบครัวผู้เข้าแข่งขันมานำเสนอ พร้อมกับเอากล้องจับที่ซีนกรรมการปาดน้ำตา คนดูในห้องส่งที่นั่งน้ำตาไหลด้วยความเห็นใจ สุดท้ายแล้วรายการก็ยังเอาคนเหล่านั้นมาเล่นเกม หรือมาแข่งขันกันให้ดู แลกกับเงินรางวัลพอหอมปากหอมคอ ได้บ้างไม่ได้บ้าง ที่คงต่อชีวิตพวกเขาไปได้อีกไม่นาน เป็นการส่งเสริมทัศนคติที่ว่า “คนจน ต้องสู้” และคนที่ยังจนอยู่ เพราไม่สู้ ไม่พยายาม ต่อไปในสังคม เป็นการผลักภาระและโทษคนจนเพราะพยายามไม่พออย่างถาวร

ด้วยความที่รายการต่างๆ เหล่านี้พูดย้ำเสมอว่าความยากจนข้นแค้น ชะตาชีวิตที่ลำบากกว่าใคร นั้นเป็นกรรมที่ติดตัวมา แสดงว่าสิ่งที่รายการเหล่านี้พยายามบอก และสอนสังคม คือ คนจนเพราะมีกรรม ?

และสิ่งที่รายการกำลังทำก็คือการทำบุญให้กับคนมีเคราะห์กรรมออกอากาศ?

ก็ไม่ผิดนักหรอก เพราะพิธีกรรายการวาไรตี้ต่อลมหายใจคนจนรายการหนึ่งเคยพูดไว้ว่ารายการนั้นเป็นเพียง “สะพานบุญ”เท่านั้น หมายความว่าในขณะที่รายการเหล่านี้สามารถเป็น “กระบอกเสียง” หรือสร้างแรงกระเพื่อมแห่งความตระหนักรู้ถึงระบบสังคมที่ย่ำแย่ และรัฐฯ ที่มีปัญหา เพื่อที่จะได้แก้ปัญหาคนจน ป่วย แก่ พิการที่ถูกละเลยให้มีชีวิตที่สิ้นหวังอย่างยั่งยืนจริงๆ แต่รายการเหล่านี้ก็ไม่ทำ แต่เลือกที่จะทำตัวเป็น “นักบุญ” เป็น “สะพานบุญ” ให้เหล่าสปอนเซอร์บริจาคเงินต่อชีวิตให้คนจนในสังคม ทำแล้วฟิน บริจาคแล้วจบ รายการได้หน้า สปอนเซอร์ได้ภาพลักษณ์ คนดูได้บริหารต่อมความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ แต่ผู้เข้าแข่งขันก็กลับบ้านไปเผชิญชีวิตในหลืบสังคมที่ไม่อาจลืมตาอ้าปากได้ต่อไป

ช่างเป็นความใจบุญที่ประหลาดเหลือเกิน เพราะในความอยากทำบุญให้คนจนมีชีวิตดีขึ้นนั้น

ต้องเป็นชีวิตที่ดีขึ้นแบบไม่ถาวร ?

หรือความจริงแล้วหากไม่ใช่เพราะการขาดแคลนความสามารถในการมองเห็นปัญหาเชิงระบบจริงๆ เจตนาลึกๆ ของรายการเหล่านี้ รวมทั้งผู้ใจบุญเบอร์ใหญ่ทั้งหลายอาจเป็นการตั้งใจหล่อเลี้ยง “ความเหลื่อมล้ำ” ในสังคมต่อไป เพราะตราบใดที่คนในสังคมยังไม่สามารถได้เป็นประชากรที่ได้รับการดูแลจากรัฐฯ อย่างเท่าเทียม และมีสิทธิ์ได้เป็น “คนเท่ากัน” ไม่ว่าจะมีกรรมมาแบบใด ความมีอำนาจ มีอภิสิทธิ์ของการเป็นผู้มีอันจะให้ และเป็นมือที่ “สูงกว่า” อยู่เสมอย่อมคงอยู่ต่อไปได้


ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *