“ถ้าไม่ออกไปม็อบก็ไม่โดนอย่างนี้หรอก”
“ดูเหตุผลด้วยว่าเขารุนแรงเพราะอะไร”
“สมควรแล้ว บ้านมีไม่อยู่ ถ้าไม่ออกไปก็ไม่เจ็บตัว”
“เป็นกำลังให้คุณตำรวจทำหน้าที่”
“พาเด็กเข้าไปเองทำไม”
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ชุมนุมคณะราษฎร 2563 ถูกเจ้าหน้าที่ปราบปรามด้วยความรุนแรง ในขณะที่ผู้ชุมนุมเรียกร้อง “ประชาธิปไตย” ที่เป็นสิทธิและอำนาจพื้นฐานที่ประชาชนพึงมีอยู่แล้ว ด้วยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยปกติพื้นๆ ไร้อาวุธ และเป็นมวลชนล้วนๆ ที่มีเด็กๆ อยู่ด้วย แต่รัฐบาลเผด็จการก็ยังยินดีที่จะใช้ความรุนแรง มีทั้งการฉีดน้ำผสมสารเคมี ยิงด้วยแก๊สน้ำตา กระสุนยาง แถมยังมี “กระสุนจริง” แถมมาจากเหล่าม็อบคนรักชาติพิทักษ์สถาบันฯ ที่ถูกปฏิบัติจากรัฐและเจ้าหน้าที่ในอีกมาตรฐานเหนือประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยชัดเจน
แต่แม้ภาพ “ความไม่เป็นธรรม” และ “ไร้มนุษยธรรม” ที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์วันนั้นจะชัดเจนกระจ่างใจขนาดไหน ก็ยังมีผู้คนมากมายที่พร้อมจะทำใจเย็นชา นอกจากจะเชียร์ฝั่งรัฐบาล ว่าทำดีแล้วทำต่อไป เชียร์ม็อบคนรักชาติที่จุดชนวนก่อสงครามกลางเมืองพร้อมลักใช้กระสุนจริงว่าเป็นดั่งฮีโร่ไม่พอ คนเหล่านั้นยังกล่าวโทษ และสมน้ำหน้าคนบาดเจ็บอีกต่างหาก

แม้จะมีหลายคนที่มองเห็นความสามานย์ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนรู้สึกโกรธ ถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม โกรธถึงความชั่วร้ายของรัฐเผด็จการที่ไม่ลังเลที่จะใช้ความรุนแรง ไม่แคร์ชีวิตของประชาชนที่เสียภาษีเลี้ยง มากไปกว่าปกป้องความมั่นคงของบัลลังก์อำนาจที่ตนและคนของตนมี
แต่ความจริงคือใช่ว่าทุกคนสามารถมี “มนุษยธรรม และ “ความเห็นอกเห็นใจ” เพราะมองทุกสิ่งอย่าง “เป็นจริง” ได้เท่ากัน แม้กระทั่งประชาชนคนเดินดินอยู่ด้วยกัน ที่อยู่ในสถานะที่มีสิทธิ์ถูกกระทำแบบเดียวกันเพราะอยู่ใต้อำนาจรัฐเหมือนกัน เพราะเหตุผลคือพวกเขาสามารถโดนแบบเดียวกันได้นี่แหละ ที่ทำให้แม้พวกเขาจะเห็นว่าอะไรเป็นอะไร แต่ก็ยินดีจะปล่อยให้มนุษยธรรมของตน error เพื่อความรู้สึกปลอดภัยของตัวเอง

เพราะมนุษย์มีแนวโน้มเชื่อใน “กรรม” และมีสัญชาติญาณเพื่อความอยู่รอดที่ทำให้ตนรู้สึกปลอดภัย
ด้วยการเชื่อว่าโลกนี้มีความยุติธรรมของมันอยู่ และผู้คนที่เคราะห์ร้าย ถูกกดขี่ ถูกทำร้ายในสังคม เป็นเพราะพวกเขา “สมควร” ได้รับสิ่งเหล่านั้นแล้วด้วยเหตุผลอะไรสักอย่าง เพราะจักรวาลจะตอบแทนมนุษย์ในสิ่งที่มนุษย์คู่ควรได้รับ ไม่ว่าจะเป็น “รางวัล” หรือ “เคราะห์ร้าย”
ความเชื่อแบบนี้ มีอยู่ในทุกศาสนา ด้วยวิธีเล่าที่แตกต่างกันไป เช่นในศาสนาพุทธ สิ่งนี้คือ “กรรม” คือผลของการกระทำของผู้คน ใช้อธิบายเวลาใครสักคนประสบเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิตที่มีที่มาให้คิดพิสูจน์ตัดสินได้ หรือหากไม่มีที่มาเช่น อุบัติเหตุต่างๆ คนที่เชื่อก็อาจบอกว่ามันคือ “กรรมที่ติดมาตั้งแต่ชาติปางก่อน” ก็ได้ ส่วนในศาสนาคริสต์หรืออิสลาม อาจบอกว่ามันคือ“การพิพากษาของพระเจ้า”หรือ“น้ำพระทัยของพระเจ้า” ที่ให้บทเรียน หรือลงโทษมนุษย์ด้วยเหตุผลอะไรสักอย่างที่เจ้าตัวอาจรู้หรือไม่รู้ก็ได้ ฯลฯ

ความเชื่อที่ไร้มนุษยธรรมนี้ของมนุษย์เป็นที่ประจักษ์ใน(1)งานวิจัยของ Melvin Lerner และ Carolyn Simmons นักจิตวิทยาสังคมที่ทำการศึกษาโดยการให้ผู้เรียนหญิงคนหนึ่งมาตอบคำถาม ซึ่งหากเธอตอบผิดจะถูกลงโทษด้วยการช็อตไฟฟ้า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมซึ่งเป็นผู้หญิงหลายคนเริ่มประเมิณและให้คะแนนเกี่ยวกับผู้เรียนหญิงคนนั้นในแง่ลบ ว่าเธอดูไม่ดี ไม่น่าคบหา และไม่เป็นที่ชื่นชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขารู้ว่าผู้เรียนหญิงคนนั้นมีโอกาสถูกช็อตอีก และพวกเขาไม่มีอำนาจที่จะหยุดความเจ็บปวดนั้น ฉะนั้นการดูถูกและเห็นว่าสิ่งที่ผู้ถูกกระทำเช่นนั้นสมควรแล้ว ทำให้ “คนที่ยืนดู” เหล่านั้นรู้สึกแย่กับเหตุการณ์ที่น่าหดหู่นั้นน้อยลง
นี่อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลและปัจจัยให้ผู้คนมากมายสามารถยืนดูคนถูกทำร้ายแล้วบอกว่า “สมควรแล้ว” ไปจนถึงเพิกเฉยต่อการกดขี่ และความไม่เป็นธรรมในสังคม แล้วหาจุดยืนที่สามารถบอกว่าตัวเอง “เป็นกลาง” ซึ่งการเพิกเฉยได้ในยามที่เห็นคนถูกทำร้าย ไม่ได้เลวร้ายน้อยไปกว่าการสมน้ำหน้าซ้ำเท่าไหร่หรอก แต่แรงขับที่ทำให้เกิดพฤติกรรมไร้มนุษยธรรมและใจจืดใจดำแบบนี้ คือ “ความกลัว” ที่จะต้องยอมรับว่าตนเองก็มีสิทธิ์ที่จะถูกกระทำหรือโดนอะไรแบบนั้นด้วย
การเป็นคนที่เรียกได้ว่า “สลิ่ม” หรือ “Ignorance” อาจเป็นเพียงเพราะพวกเขาขาดแคลนความ “กล้าหาญ”และอ่อนแอมาก เมื่อบวกกับความสามารถในการ “เห็นอกเห็นใจ”(Empathy) น้อย ก็ทำให้พวกเขาอยากที่จะเชื่อว่าสังคมและโลกที่อยู่นั้นมีความ “ยุติธรรม” อยู่ และเหตุการณ์ที่ไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นต่อหน้าทั้งหลายแหล่นั้น สมควรเกิดขึ้นแล้ว

จึงไม่แปลกที่เวลามีเหตุการณ์ชั่วช้า อาทิ รัฐปราบปรามประชาชนด้วยความรุนแรง รัฐอุ้มคนเข้าคุกโดยไม่ผ่านศาล เด็กโดนลูกหลงจากอาวุธของเจ้าหน้าที่ เศรษฐีขับรถชนคนแล้วหนี เด็กผู้หญิงถูกข่มขืนในบ้านคนเหล่านี้จะโฟกัสและตั้งคำถามไปที่ “ผู้ถูกกระทำ” และตั้งใจขบคิดให้ออกให้ได้ว่าเหตุผลอะไรที่ทำให้เหยื่อเหล่านี้ถูกทำร้ายแบบนั้น แทนที่จะเหนื่อยน้อยกว่าด้วยซ้ำ ด้วยการ “กล้าที่จะมองให้เห็น” ว่าความไม่เป็นธรรมนั้นเกิดขึ้นจริง และเกิดขึ้นจากใคร เพราะอะไร…
แต่เพราะไม่ใช่ทุกคนที่มีความสามารถในการ “มองเห็นปัญหาเชิงระบบ”
และก็ไม่ใช่ทุกคนที่กล้าหาญ และเข้มแข็งพอจะยอมรับว่ามนุษย์ยังต้องต่อสู้กับ “อำนาจนิยม” สามานย์ที่เป็นต้นเหตุแห่งความอยุติธรรมในสังคมมนุษย์นี้ต่อไป

แต่ความโหดร้ายที่สุดเหนือสัญชาติญาณเอาตัวรอดที่เป็นความเชื่อที่ทำให้มนุษยธรรมบิดเบี้ยว
คือการที่ใครบางคน อาทิ “รัฐ” และเหล่า “ชนชั้นนำ” ผู้มีอำนาจในสังคมนี้ รวมไปถึง “สื่อ” ต่างมุ่งมั่นที่จะกระตุ้นให้เกิดการสำนึกรู้ที่บิดเบี้ยวเหล่านี้รุนแรงขึ้นอีก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะพวกเขาได้รับประโยชน์จากมัน ด้วยการสร้างเหตุผลอันศักดิ์สิทธิ์จับต้องไม่ได้ เพื่อให้การทำร้าย “ประชาชน” กลายเป็นความชอบธรรมให้ได้ เป็นการช่วยให้เหล่าผู้ยืนดู “โทษเหยื่อ” ได้ง่ายขึ้นไปอีก
และยิ่งมอมเมาผู้คนด้วยเหตุผลอันศักดิ์สิทธิ์นั้นประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ผู้คนเหล่านั้นเชื่อได้ง่ายๆ แม้จะเป็นการเชื่อว่า…ฝ่ายถูกกระทำและต้องได้รับการปกป้อง คือฝ่ายที่มาพร้อมอาวุธสงครามและอำนาจเบ็ดเสร็จครบมือ
อ้างอิงข้อมูล