เพราะ “ความเมตตา” ของมนุษย์มีขีดจำกัด… ภาพของ “เหยื่อคนเดียว” จึงสร้างพลังแห่งความเห็นอกเห็นใจได้มากกว่าเหยื่อนับพัน

เพราะ “ความเมตตา” ของมนุษย์มีขีดจำกัด… ภาพของ “เหยื่อคนเดียว” จึงสร้างพลังแห่งความเห็นอกเห็นใจได้มากกว่าเหยื่อนับพัน


ทำไมภาพของ “เหยื่อ” จากการถูกล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน ถึงสร้างแรงกระเพื่อมแห่งความโกรธ และความเห็นอกเห็นใจ ได้มากกว่าตัวเลขสถิติของผู้ที่ถูกล่วงละเมิดโดยบุคลากรในโรงเรียนทั้งปี ที่มีจำนวนมากจนน่าตกใจ

ทำไมภาพของเด็กน้อยชาวซีเรีย “Alan Kurdi” ที่เป็นศพนอนคว่ำหน้าอยู่ริมชายหาดเพียงลำพัง ถึงปลุกใจแห่งมนุษยธรรมของชาวโลกได้ ในขณะที่ความจริงแล้วมีผู้อพยพชาวซีเรียต้องทิ้งชีวิตกลางทะเลนับพันระหว่างลอยลำรอลี้ภัย และมีชาวซีเรียถูกฆ่าตายและสูญหายเป็นแสนเป็นล้านมาหลายปีแล้ว

เป็นเพราะความจริงแล้ว “ความเมตตา” ของมนุษย์มีขีดจำกัด ไม่ใช่เพราะลึกๆ แล้วมนุษย์นั้นใจดำ หรือทำกิจเมตตากันตามกระแส แต่เพราะภาวะที่เรียกว่า “Psychic Numbing” หรือ “ความมึนงงทางจิต” ที่ทำให้เกิดการ Lack ส่งผลให้ความเห็นอกเห็นใจของมนุษย์มีขีดจำกัด

“One death is a tragedy; a million deaths is a statistic”

“หนึ่งคนตาย คือ โศกนาฏกรรม, ล้านคนตาย คือสถิติ”

– Joseph Stalin
ภาพเด็กน้อย “Alan Kurdi” ชาวซีเรียที่เสียชีวิตระหว่างลี้ภัย

การอ้างสถิติ เพื่อหวังสร้างแรงกระเพื่อมทางจิตวิทยา ให้เกิดการ “ตื่น” ของมวลชนมหาศาลในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เป็นอีกหนึ่งความเข้าใจผิดของใครหลายคน เพราะความจริงแล้วภาพของ “เหยื่อหนึ่งคน” นั้นมีพลังมากกว่าตัวเลขสถิติ หรือภาพของศพเรือนแสนในเหตุการณ์สังหารหมู่

มีนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Oregon นาม “Paul Slovic” ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางจิตที่เรียกว่า “Psychic Numbing” มานานและพบว่าปริมาณความเห็นอกเห็นใจของมนุษย์ ไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม “จำนวน” ของเหยื่อแต่อย่างใด ในการศึกษาครั้งหนึ่งของเขามีการทดลองโดยนำเสนอเคสที่ต้องการการบริจาคช่วยเหลือเป็นสองกลุ่มกลุ่มแรกมีการนำเสนอภาพของเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ พร้อมข้อความที่อธิบายรายละเอียดเรื่องราวของเธอ อีกกลุ่มมีการเพิ่มข้อมูลว่ามีอีกหลายล้านคนที่ประสบปัญหาลักษณะเดียวกันและยังต้องการความช่วยเหลือ ผลการทดลองคือมีการบริจาคให้กับกลุ่มแรกมากกว่า ซึ่งได้ผลออกมาสอดคล้องกับการทดลองอีกหลายแบบที่เขาเคยทำ

เพราะตัวเลขที่ไม่สามารถจุดประกายอารมณ์หรือความรู้สึก ย่อมไม่กระตุ้นให้เกิดการกระทำเนื่องจากหากเป็นภาพ “เหยื่อคนเดียว”
มนุษย์สามารถใช้ความเห็นอกเห็นใจ(Empathy) ได้มากกว่า เพราะสามารถ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ได้ง่ายกว่า ในขณะที่หากรับรู้ว่ามีเหยื่อเพิ่มขึ้นจากหนึ่ง เป็นสอง หรือเป็นพันคน ถึงล้านคน ก็ทำให้เกิดการ “Error” ขึ้นมา และทำให้ความ “อิน” ตรงนั้นลดลงโดยอัตโนมัติ เพราะมนุษย์ปัจเจกไม่สามารถเข้าใจและเข้าถึงเหยื่อเป็นล้านได้

นักจิตวิทยา Paul Slovic ยังให้เหตุผลไว้อีกว่า มนุษย์ทำกิจเมตตาเพราะมีใครที่ต้องการความช่วยเหลืออยู่ และยังทำเพื่อเป็นการ “ให้รางวัล” ตัวเองด้วย ฉะนั้นการแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อคนหนึ่งคน ทำให้ผู้ให้คนนั้นมั่นใจได้ว่าความช่วยเหลือไปถึงและทำให้ผู้ให้นั้นรู้สึกดีได้เลย ในขณะที่การให้ความช่วยเหลือคนที่จำนวนมากขึ้น ซึ่งเพียงหนึ่งแรงจากผู้ให้ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นรูปธรรม จะทำให้ผู้ให้คนนั้นรู้สึกแย่มากกว่าที่จะรู้สึกดี พวกเขาจึงมีแนวโน้มที่จะเพิกเฉยและรู้สึกต่อมันน้อยลง

และปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความรู้สึก “เห็นอกเห็นใจ” พอที่จะสร้างแรงกระเพื่อม การตื่นตัว และส่งออกมาเป็นการกระทำ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเพื่อช่วยเหลือ การเข้าช่วยเหลือผู้ที่ลำบาก หรือการออกมาเรียกร้องเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในเรื่องนั้นๆ ขึ้น

คือ “ความรู้สึกร่วม” และ “ประสบการณ์ร่วม” ซึ่งน้ำหนักความสำคัญคือประการแรก คือเมื่อภาพความไม่เป็นธรรมใดๆ เกิดขึ้นกับใครสักคน หากภาพนั้นสามารถทำให้ผู้พบเห็นเกิดความรู้สึกใดๆ ขึ้นมาได้ ก็สร้างการกระทำขึ้นได้ ไม่สำคัญว่าจะมีประสบการณ์ร่วมในแบบเดียวกันเป๊ะๆ เลยหรือไม่ เพราะหากเกิดการตอบสนองต่อเหตุการณ์นั้นในทางอารมณ์ สมองจะทำการค้นหาประสบการณ์ในคลังความจำโดยอัตโนมัติ เพื่อเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ใดก็ตามที่มาพร้อมกับอารมณ์

“หากไร้ซึ่งผลกระทบข้อมูลก็ไร้ความหมายและจะไม่ถูกใช้ในการตัดสินใจ”

– (Loewenstein, Weber, Hsee, & Welch, 2001; Slovic, Finucane, Peters, & MacGregor, 2002)
ภาพเด็กชายชาวซีเรียที่บาดเจ็บจากระเบิดในสงครามซีเรีย

คำถามคือ แล้วเราจะทำอย่างไรกับปัญหาและขีดจำกัดของมนุษยธรรมนี้ ?

นี่อาจเป็นทริคลับที่ซ่อนอยู่ในวรรณกรรมเรื่อง “The Hunger Game” ที่การปลุกความโกรธ ความกระด้างกระเดื่อง จากความ “เห็นอกเห็นใจ” ต่อปัจเจกบุคคลได้ผลมากกว่า เพราะในขณะที่ประชากรทั่วทั้งพาเน็มประสบกับชีวิตที่ยากแค้น ไร้ซึ่งสิทธิเสรีภาพ และมีชีวิตที่มีค่าเป็นเพียงผู้สร้างผลผลิตและตัวสร้างความบันเทิงให้กับคนชั้นสูงมานาน ผู้คนแต่ละเขตเห็นภาพชีวิตที่เป็นเหยื่อทั้งของตัวเองและคนอื่นมานานจนชิน คนชั้นสูงในเมืองหลวงดูการฆ่ากันตายในเกมปีละหลายสิบคนมาหลายทศวรรษ แต่ไม่เคยเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น

จนกระทั่งเด็กหญิงตัวเล็กที่ชื่อ “ริว” ได้สร้างแรงกระเพื่อมแรก ด้วยการสร้างก้อนอารมณ์ขมขื่นในใจให้ผู้คนทั้งอาณาจักรได้ด้วยภาพที่แสดงถึงจิตวิญญาณแห่งน้ำใจและมนุษยธรรมของเธอ ที่ถูกทำลายลงด้วยกระสุนปืนในเกมการเมือง ซึ่งทำให้ผู้คนที่ถูกกดขี่แต่ก็ยังหลับใหลมานานด้วยความเคยชินถูกปลุกขึ้นมาให้กล้าไถ่ถามถึงความเป็นธรรม
ด้วยความรู้สึกร่วมว่า…

ตนหรือลูกสาวในครอบครัวตนก็สามารถถูกกระทำอย่างริวได้เช่นกัน

ตามมาด้วยบทบาทชีวิตรักโรแมนติกของ “แคตนิส” ที่ต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมแทนที่จะได้ใช้ชีวิตเคียงคู่กันอย่าง Happy Ending เพียงเพราะต้องมาเป็นเบี้ยและเหยื่อในเกมการเมืองที่ถูกกุมอำนาจไว้ด้วยคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งสามารถก่อคลื่นแห่ง “มนุษยธรรม” ขึ้นแม้ในใจของชนชั้นสูงที่มองชีวิตคนนอกเมืองเป็นเหมือนผักปลามาแสนนาน เพียงเพราะ …“โศกนาฏกรรมรักที่ไม่สมหวัง” สามารถเกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคนทุกชนชั้น

ฉะนั้นการ “สื่อสาร” กับ “มนุษย์” ด้วยความเป็นมนุษย์มากที่สุด จึงอาจเป็นทางออกของการติดหล่มแห่ง “ขีดจำกัด” นี้ ด้วยการเสนอภาพที่เป็น “ปัจเจก” มากขึ้น และมีการสื่อสารด้วยภาพที่แสดง “อารมณ์ความรู้สึก” มากขึ้น เพราะการบอกกล่าวถึงถึง “สถิติ” ว่ามีคนถูกกดขี่ ถูกทำร้าย ถูกฆ่า หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม“จำนวนมากเท่าไหร่” ไม่ได้สร้างพลัง และคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงได้มากเท่าการบอกว่าคนเหล่านั้นประสบกับความทรมาน “มากแค่ไหน” และทรมานอย่างไร มิหนำซ้ำการแสดงสถิติเพื่อหวังปลุกใจและสร้างแรงกระเพื่อม กลับกันอาจทำให้กระแสความรู้สึกร่วมนั้นซาลงด้วยซ้ำในทางจิตวิทยา

“แม้แต่ภาพเดียว ก็สร้างความแตกต่างได้”

– Paul Slovic

แต่การเสนอภาพบุคคลคนเดียวที่ถูกทำร้ายและไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ได้ทำให้ความตื่นตัวและการช่วยเหลือถูกตีวงให้แคบลงมาจำกัดอยู่เพียงคนๆ เดียว จนทำลาย“นามธรรม” ของปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะนักจิตวิทยา Paul Slovic กล่าวว่า

“หากเราได้รับรู้เรื่องราวของใครคนใดคนหนึ่ง หรือหนึ่งคนขึ้นไป ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนสถิติเหล่านั้น มนุษย์ก็จะสามารถเชื่อมโยงอารมณ์กับคนเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น”

“If I look at the mass I will never act. If I look at the one, I will.”

นี่เป็นคำพูดของแม่ชีเทเรซา ที่แสดงให้เห็นว่าความผิดพลาดในระบบมนุษยธรรมของมนุษย์นั้นเกิดขึ้นได้ และไม่ใช่เพราะใครคนนั้นมีระดับมนุษยธรรมต่ำหรือจิตใจแข็งกระด้าง

แต่มนุษย์อาจถูกออกแบบมาให้เรียนรู้ที่จะสื่อสาร เชื่อมต่อกับมนุษย์คนอื่นเพื่อที่จะ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” เพื่อเรียนรู้ที่จะบริหารมนุษยธรรมในใจ และท้าทายการเรียนรู้นั้นต่อไปอีก ด้วยการขยายขอบเขตของใจเมตตานั้นออกไปให้มากกว่าแค่คนรอบตัว
จนสามารถละจาก “อัตตา” ที่ทำให้มนุษย์จมจ่อมอยู่กับตัวเองและทำอะไรตาม “สัญชาติญาณ” ไปตลอดก็เป็นได้


อ้างอิงข้อมูล

1-http://journal.sjdm.org/7303a/jdm7303a.htm

2-https://www.kgw.com/article/tech/science/psychic-numbing-why-we-stop-caring/283-35da22bd-0fc3-4880-909b-8b3c4053476a

3-https://www.vox.com/explainers/2017/7/19/15925506/psychic-numbing-paul-slovic-apathy

4-https://www.arithmeticofcompassion.org/psychic-numbing

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *