ชวนดู “A Christmas Gift From BOB” หนังแมวฟีลกู้ดบรรยากาศคริสต์มาส ที่จะทำให้ใครหลายคนแอบรู้สึกอิจฉาแมวที่ยังได้รับการเหลียวแลจากรัฐมากกว่าคนซะอีก

ชวนดู “A Christmas Gift From BOB” หนังแมวฟีลกู้ดบรรยากาศคริสต์มาส ที่จะทำให้ใครหลายคนแอบรู้สึกอิจฉาแมวที่ยังได้รับการเหลียวแลจากรัฐมากกว่าคนซะอีก


A Christmas Gift From BOB หนังภาคต่อจาก A Street Cat Named BOB หนังเรื่องที่สองและเป็นเรื่องสุดท้ายของเจ้าแมวส้มชื่อ “BOB” แมวจรที่เปลี่ยนชีวิตอดีต “คนจร” ติดยาให้กลับตัวและมีแรงใจในการใช้ชีวิต อันเป็นแรงบันดาลใจของใครหลายคน ยิ่งบนโลกที่เต็มไปด้วยเรื่องที่ทำให้เหนื่อยใจจนใครบางคนไม่อยากตื่นขึ้นมา แต่พอคิดว่ายังมีน้องหมาน้องแมวที่รอกินข้าวอยู่ที่บ้าน ก็ทำให้ยังพอเหลือเหตุผลในการสู้ชีวิตต่อ
แต่นอกจากบรรยากาศเทศกาลแห่งความสุขในหนัง ที่ตั้งใจลงฉายในช่วงคริสต์มาสพอดี เป็นการให้เจ้า BOB ได้มอบของขวัญให้กับชาวโลกเป็นครั้งสุดท้าย หนังเรื่องนี้ยังพาเราไปดูมุมมองเกี่ยวกับการดูแลสวัสดิภาพสัตว์เลี้ยง ขององค์กรพิทักษ์สัตว์ในประเทศที่ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิแม้แต่สำหรับสัตว์อีกด้วย

ภาพจาก : M Pictures

A Christmas Gift From BOB เป็นหนังภาคต่อจาก A Street Cat Named BOB ที่เป็นเรื่องราวของ “James” วณิพกติดยา ไร้บ้าน ที่ได้มาพบกับแมวจรสีส้ม ซึ่งมันได้กลายเป็นแรงบันดาลใจ กำลังใจในการมีชีวิตอยู่ต่อไปของเขา ซึ่งทำให้เขากลับตัวกลับใจ เลิกยา ตั้งหน้าตั้งตาหาเงินเพื่อเลี้ยงชีวิตตัวเองและแมวให้ได้ และดั่ง BOB แมวส้มนี้เป็นเทวดาผู้พิทักษ์ประจำตัวของเขา มันอำนวยโชคให้เขาด้วยการเป็นที่รักของคนในสังคม และทำให้ James เป็นที่รู้จักในสังคมเพราะ BOB

ส่วน A Christmas Gift From BOB เป็นเนื้อเรื่องที่ต่อจากภาคก่อน เล่าถึงการต่อสู้ชีวิตปากกัดตีนถีบของ James เพื่อให้สามารถมีเงินพอเลี้ยงทั้งตัวเองและแมวได้ เพราะมันไม่ใช่แค่ “แมว” แต่เป็นเพื่อ คู่หู ครอบครัว และเป็นกำลังใจสำคัญในชีวิต
ซึ่งปัญหาก็คือนอกจากลำพังต้องสู้เพื่อหาเงินแล้ว ยังต้องมาเจอกับ “องค์กรพิทักษ์สัตว์” ที่จับตาดูและพร้อมพิพากษาว่าเขามีคุณสมบัติพอจะเลี้ยงดูแมวส้มตัวนี้หรือเปล่า

ภาพจาก : M Pictures

ทั้งบรรดาทาสแมวและคนไม่ได้เลี้ยงแมวที่ได้ดูหนัง อาจจะแอบรู้สึกโกรธ “เจ้าหน้าที่จากองค์กรพิทักษ์สัตว์” ที่รับบทมาให้ดูเหมือนเป็นตัวร้ายในหนังการ์ตูนเด็ก ที่พยายามจะแยกระหว่างแมวกับพระเอก เป็นดั่งศัตรูหัวใจในหนังที่ช่างไร้หัวใจและไม่รู้อะไรเอาเสียเลย

แต่ที่อังกฤษ เขามีกฎหมายเข้มงวดสำหรับปกป้องคุ้มครองสัตว์เลี้ยง คือนอกจากเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีจะไม่สามารถซื้อสัตว์เลี้ยงได้ ถ้าเจ้าของเลี้ยงสัตว์ทิ้งขว้าง เพิกเฉย ไม่ดูแล ไปจนถึงทำร้าย ทารุณกรรมสัตว์ บอกเลยว่านอกจากจะโดนห้ามเลี้ยงสัตว์ไปอีกตลอดชีวิต ยังมีโทษจำคุกสูงสุด 51 สัปดาห์และค่าปรับสูงถึง 20,000 ปอนด์ด้วย

และการดูแลจากรัฐแบบเป็นคนนอก ที่มองเข้ามาด้วยสายตาที่พิจารณาเพื่อ “คุณภาพชีวิต”เป็นหลัก ทำให้ผู้ที่ถูกคุ้มครองปลอดภัยจากการกดขี่ และการดูแลที่ไม่เหมาะสมจากครอบครัว ไม่ว่าคนในบ้านนั้นจะอ้างว่ารักนักหนาหรือไม่ แต่ถ้าผู้ที่ถูกคุ้มครอง ดูมีแนวโน้มที่จะได้รับการดูแลไม่ดีจากที่บ้าน เช่นผู้ดูแลมีรายได้ไม่มั่นคงมากพอจะดูแลได้ดีพอ ไม่ให้อิสระในการตัดสินใจในการใช้ชีวิต กินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ สภาพแวดล้อมไม่สะอาด รัฐก็มีสิทธิ์จะช่วยเหลือให้พ้นออกมา ซึ่งในที่นี้เรากำลังพูดถึง “สัตว์เลี้ยง” ที่ได้รับการคุ้มครองอย่างดีจากรัฐ ซึ่งหาก “คน” ในประเทศที่ไม่เคยจะได้รับการคุ้มครองดูแลขนาดนี้จากรัฐเลยด้วยซ้ำ ก็อาจรู้สึกไม่ชิน และไม่เข้าใจการให้ความสำคัญสวัสดิภาพตรงนี้ ซึ่งก็พอเข้าใจได้

ภาพจาก : https://metro.co.uk/wp-content/uploads/2020/10/Screenshot-2020-10-10-at-17.21.35-5574.png

ด้วยความที่เป็นหนังสัญชาติอังกฤษ ไม่ทราบว่าคนเขียนบท Garry Jenkins และผู้กำกับ Charles Martin Smith นั้นตั้งใจจะทำให้เราเห็นภาพเทาๆ บนความเป็นหนังคริสต์มาสฟีลกู้ดนี้อย่างชัดเจนอยู่แล้วหรือเปล่า แต่นอกจากบรรยากาศเทศกาลแห่งความสุขในกรุง London อันเป็นฉากหลักในหนังเรื่องนี้ กับเรื่องราวระหว่างอดีตวณิพกไร้บ้านติดยาชีวิตหดหู่กับแมวส้มผู้เปลี่ยนชีวิตเขา และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คน… เราสามารถมองเห็นความเหลื่อมล้ำในประเทศผู้ดีนี้ได้อย่างชัดเจน

ประเทศอังกฤษมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้นมาหลายปี จากนโยบายการรัดเข็มขัดเศรษฐกิจของรัฐบาล ทำให้ชาวเมืองผู้ดีหลายคนประสบกับความยากจน มีคนไร้บ้านเพิ่มขึ้น รวยกระจุกจนกระจาย และรัฐบาลก็ไม่ได้ยื่นมือเข้ามาแก้ไขได้มากนัก จนประชาชนต้องทำการกุศล ตั้งค่ายช่วยเหลือคนยากจนและไร้บ้าน มีทั้งหมอคนและหมอหมาอาสามาให้การรักษาเป็นครั้งคราว ส่วนคนว่างงานที่ไร้โอกาสในชีวิตที่เลือกหาเงินในวิถีที่ทำได้เช่น “วณิพกข้างถนน” เหมือนJames ก็กลับเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายในบางพื้นที่

A Christmas Gift From BOB จึงไม่ใช่แค่แรงบันดาลใจของคนในซอกหลืบสังคมที่อาศัยอยู่ในเมืองคนรวย แต่ความจริงแล้ว BOB คือโอกาสในการหาเงินต่อชีวิตของคนจนที่ไม่เคยได้รับ “โอกาส” จากสังคม และในขณะเดียวกัน “BOB” ก็สะท้อนภาพเจ็บปวดให้เห็นว่ารัฐบาลในบ้านเมืองผู้ดีเขา “เห็นคุณค่าแมวหมามากกว่าคนจนซะอีก” เพราะแมวหมานั้นไม่ว่าจะพาเดินไปไหนก็มีแต่คนเอ็นดู ส่วนคนจนนั้นไปเที่ยวนั่งอยู่ตามข้างถนนก็มีแต่จะทำให้บ้านเมืองดูสกปรก

ภาพจาก : https://d1nslcd7m2225b.cloudfront.net/Pictures/1024×536/0/4/7/1327047_01_564842.jpg

ไม่ใช่แค่ “คน” ในประเทศกำลังพัฒนาแถวนี้หรอกที่ต้องอิจฉา BOB แต่ James และคนอังกฤษเองหลายคนก็อาจอิจฉามันเหมือนกัน เพราะในขณะที่แม้ BOB จะพูดภาษาคนออกมาไม่ได้ว่ามันอยากจะมีสิทธิ์อยู่กับเจ้าของมันหรือรัฐบาล องค์กรพิทักษ์สัตว์ก็ยังอำนวยความเป็น “ประชาธิปไตย” ให้มันด้วยการถามความเห็นจากคนในสังคมแถมยังมี “มูลนิธิสัตว์ที่สร้างแรงบันดาลใจ” มาเชิญไปเป็นทูตแห่งมูลนิธีอีก ในฐานะที่เป็นสัตว์เลี้ยงที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนจนๆ คนหนึ่งและคนในสังคม

แต่วณิพกไร้บ้านที่ไม่เคยแม้จะตัดสินใจทำตัวเป็นภัยสังคม และต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วยการ “สู้” ในทางที่พอจะสู้ได้ แต่รัฐและสังคมกลับไม่เคยให้โอกาส ถูกไล่ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจซ้อมเหมือนหมูหมา และเรื่องราวของพวกเขาก็ไม่เคยถูกยกให้เป็น แรงบันดาลใจ” ให้ใครได้

และในขณะที่เรานึกหดหู่กับเรื่องราวของ “บ้านเค้า” พอได้ดึงสติเหลียวกลับมามองบ้านเรา ที่ทั้งคนทั้งแมวไม่ถูกเหลียวแลจากรัฐพอๆ กัน

ภาพจาก : https://images.thewest.com.au/publication/C-1678718/e7e7e8db8a014ebcbafe99a39ca08e3986a0044c-16×9-x0y182w3508h1973.jpg?imwidth=810&impolicy=wan_v3

สำหรับความคิดเห็นของผู้เขียน “A Christmas Gift From BOB” เป็นหนังที่ดูแล้วอยากจะรีบกลับบ้านไปหาแมวของตัวเอง อาจเพราะ “สัตว์เลี้ยง” เป็นความสุขที่หล่อเลี้ยงใจคนในประเทศแบบนี้ได้ง่ายและทรงประสิทธิภาพที่สุดแล้ว ?
หนังเรื่องนี้เหมาะกับการพาเพื่อน แฟน หรือครอบครัวไปดูในช่วงสิ้นปีนี้มากๆ ไม่ว่าคุณจะเป็นทาสแมวหรือไม่ได้เลี้ยงแมวก็ตาม เพราะฉากหลักในหนังเป็นกรุง London ในช่วงคริสต์มาส ที่บรรยากาศดีได้ฟีลเทศกาลมากๆ และน้องแมวส้ม BOB ผู้ที่จะอยู่ในความทรงจำของเหล่าทาสแมวทั่วโลกตัวนี้ก็ยังคงน่ารักน่าเอ็นดูเหมือนเดิม แค่คิดว่าเป็นการไปดูผลงานส่งท้ายในชีวิตของน้องก็คุ้มแล้ว
แต่จะบอกว่าแมสเสจอื่นๆ ที่หนัง(น่าจะ)ตั้งใจสื่อออกมา คือความหดหู่สีเทาๆ ที่ซ้อนทับอยู่ในเทศกาลแห่งความสุขนี้ จากการที่ในบางสังคม(ดัดจริต) การที่คนจนในซอกหลืบสังคมถูกปฏิบัติแย่กว่าสัตว์เลี้ยงนั้นมีอยู่จริง และนั่นทำให้เราได้ตั้งคำถามที่เหนือไปกว่าการเปรียบเทียบระหว่าง “สัตว์เลี้ยง” บ้านเขา กับ “มนุษย์” บ้านเรา

นั่นคือ “มนุษยธรรม” ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน…


ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *