ข่าวเรื่องดาราที่ติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่แมทธิว ลีเดีย มาจนถึงดีเจมะตูม กับข่าวเรื่องแรงงานพม่า นักพนัน และคนชนชั้นกลางทำงานออฟฟิศติดโควิด-19 ก็ได้แอร์ไทม์พอๆ กันจนเป็นแฮชแท็กในทวิตเตอร์ แต่สิ่งที่ต่างกันมาก จนฉงนใจแรงๆ คือ “ปฏิกิริยา” ที่เกิดขึ้นกับคนเหล่านี้ ที่ล้วนเป็น “ผู้ป่วย”ซึ่งไม่ได้ตั้งใจจะรนหาที่ติดโรค และไม่รู้ตัวว่ากลายเป็น Spreader แพร่เชื้อพอๆ กัน
โดยในขณะที่คนรวย คนดังที่ติดเชื้อ มีแต่ผู้คนในสังคมเข้าไปให้กำลังใจ ส่งความรัก ติดแฮชแท็ก save ด้วยความเข้าใจที่เป็นเหตุเป็นผลดีว่า “ไม่มีใครอยากติดเชื้อ” แต่สำหรับคนไม่รวย หรือคนที่ดูจากภายนอกแล้วน่าจะเป็นคนบาปสำหรับเมืองพุทธ กลับถูกรุมประณาม ไล่ไปตาย และไม่มีใครมองเห็นว่าพวกเขาก็ไม่ได้อยากติดเชื้อ และไม่รู้ตัวว่าตนแพร่เชื้อได้เหมือนกัน
ปรากฏการณ์นี้อาจทำให้ใครหลายคนสงสัยระคนเจ็บปวดใจ ว่าทำไมความรวย-จนนี้ ทำให้“ความเป็นมนุษย์” ของผู้คนไม่เท่ากัน
โควิด-19 ติดคนรวย คือ “เคราะห์ร้าย” แต่โควิด-19 ติดคนจน คือ “ตัวเชื้อโรค”?

ปรากฎการณ์นี้ อธิบายโดยหลักการทางวิทยาศาตร์ได้ว่า
เป็นเพราะบางคนมองไม่เห็นความเป็น “มนุษย์” ใน “คนที่จนกว่า”…
กระบวนการเวลาคนเราจะ “ตัดสิน” ใครสักคน มีอยู่สองขั้นตอน
ขั้นที่ 1 คือการพิจารณาว่า คนๆนี้ เป็น “เพื่อน หรือ ศัตรู” โดยพิจารณาจาก “ความรู้สึก” ว่าคนๆ นี้ดูเป็นมิตรหรือไม่
ขั้นที่ 2 คือการพิจารณาว่าคนๆ นี้ “มีความสามารถ” หรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น ผู้คนมีแนวโน้ม “อิจฉา” คนที่รวยกว่า เพราะเมื่อมองดูคนที่รวยกว่า ทำให้เห็นการมีความสามารถ แต่ก็ไม่สามารถชอบได้ เพราะในการพิจารณาขั้นที่ 1 ทำให้เห็นว่าถึงอย่างไรพวกเขาก็ดูไม่เป็นมิตร และไม่น่าเป็นคนดี
ส่วนสำหรับ “คนที่จนกว่า” เมื่อพิจารณาแล้วมักจะทำให้มองเห็นถึงการ “ไม่มีความสามารถ” แต่หากดูเป็นมิตร ก็อาจทำให้รู้สึก “สงสาร” ในขณะที่หากคนจนคนนั้นมีอัตลักษณ์ หรือท่าทีที่ทำให้รู้สึกว่าไม่เป็นมิตร หรือมีสิ่งที่ทำให้มองในแง่ลบ เช่น ไม่สุภาพ ไม่สะอาด ไม่เป็นคนดี ไม่คุ้นเคย จึงทำให้ถูกตัดสินในแง่ลบ และถูก “รังเกียจ”
ที่โหดร้ายกว่าการที่มนุษย์มีแนวโน้มตัดสินโดยความรู้สึก คือ “ความเป็นมนุษย์” ที่แตกต่างกันระหว่างคนจน กับคนรวยนี้ มีหลักฐานยืนยันใน “สมอง” ของมนุษย์ด้วยโดยนักประสาทวิทยา Lasana Harris และ Susan Fiske จากมหาวิทยาลัย Princeton ได้เคยทำการทดลองและสแกนสมองของอาสาสมัคร ทำให้เห็นว่า เมื่ออาสาสมัครดูรูปคนที่มีลักษณะคล้าย “คนรวย” เยื่อหุ้มสมองส่วนหน้าจะเกิดการทำงาน ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของสมองเวลามนุษย์เจอ “สิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน”
ในขณะที่เมื่ออาสาสมัครได้ดูรูปชายคนหนึ่งที่สมเสื้อผ้าสกปรก รองเท้าขาดๆ และผมเผ้ายุ่งเหยิง ดูเหมือนเป็นคนไร้บ้าน เยื่อหุ้มสมองส่วนหน้าส่วนเดียวกันนั้นกลับไม่มีปฏิกิริยาที่บ่งบอกว่าอาสาสมัครคนนั้นกำลังมองเห็น “มนุษย์” คนหนึ่ง

อีกทฤษฎีที่อธิบายถึงความ “อคติทางความคิด” ต่อคนรวยและคนจน คือทฤษฎี “โลกธรรม”(Just World) ที่ศึกษาโดยนักจิตวิทยาสังคม Melvin J. Lerner ซึ่งเป็นความเชื่อที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากยินดี“โทษเหยื่อ”ก่อนในทุกสถานการณ์
ทฤษฎีบอกว่า มนุษย์เรามีความเชื่อว่า “โลกนี้มีความเป็นธรรมแล้ว” ซึ่งเป็นความเชื่อที่ทำให้มนุษย์รู้สึกปลอดภัย ด้วยความมั่นใจว่าคนเราสามารถ “ควบคุม” สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ ทำให้ผู้คนที่มีแนวคิดแบบนี้ มีแนวโน้มเพิกเฉยต่อความไม่เป็นธรรมในสังคม โดยเฉพาะหากการกดขี่ รังแก หรือปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้นสร้างขึ้นโดยผู้มีอำนาจ
แนวคิดว่า “โลกเป็นธรรมแล้ว” คือการมองว่าผู้คนที่ประสบเคราะห์ร้าย ยากจน ถูกปล้น ถูกทำร้าย รวมไปถึง “ติดเชื้อโรคร้าย” นั้น เป็นเพราะ “สมควรแล้ว” และผู้คนเหล่านั้นคงทำอะไรบางอย่าง หรือมีวิถีชีวิตที่ทำให้พวกเขาต้องไปอยู่ในจุดที่เจอเรื่องร้ายเหล่านั้น เช่น ผู้หญิงที่โดนข่มขืนเพราะแต่งตัวโป๊ บ้านที่ถูกปล้นเพราะไม่มีการป้องกันแน่นหนาพอ หรือผู้หญิงคนหนึ่งที่ติดโควิด-19 เพราะเที่ยวไปตะลอนกินเหล้าตามผับบาร์หลายที่ หรือแรงงานพม่าที่ติดโควิด-19 เพราะอยู่กันอย่างแออัด สกปรก ฯลฯ

ในขณะที่ คนรวย ดารา ผู้มีอำนาจ นักธุรกิจที่รวยล้นฟ้าบนการเอาเปรียบแรงงาน หรือแม้กระทั่งชนชั้นศักดินาที่กดขี่ประชาชนเพื่อเสวยสุขบนบัลลังก์อันหรูหรานั้น ถูกมองว่า “สมควรแล้ว” เช่นกัน เพราะพวกเขาอาจเป็นผู้มีบุญญาธิการมาเกิด ทำบุญมาดี พ่อแม่เป็นคนดี หรือไม่ก็มีความเก่งกาจ พยายาม สู้ชีวิตมากกว่าใคร จึงทำให้มีชะตาชีวิตที่ดีล้ำกว่าผู้อื่น
โดยหากคนเหล่านี้พบกับ “แรงเสียดทาน” หรือ “เคราะห์ร้าย” ต่างๆ เช่น ผู้มีอำนาจที่โดนประณามเพราะทำสิ่งไม่เป็นธรรมต่อประชาชนรากหญ้า คนที่เชื่อว่า “โลกนี้เป็นธรรมแล้ว” ก็อาจมองว่าพวกคนจนรากหญ้านั้นก้าวร้าวขี้โกงเอาแต่เรียกร้องเอง
ซึ่งเป็นกระบวนการเดียวกันกับการที่ดาราเซเลป คนรวยที่ติดเชื้อโควิด-19 นั้นมีแต่คนให้กำลังใจ กอดๆ ให้ผ่านเคราะห์ร้ายนี้ไปให้ได้ ในขณะที่คนจนกว่าที่ติดเชื้อโรค โดยไม่ได้ตั้งใจเหมือนกัน กลับถูกประณามว่า “รนหาที่เอง”

อีกเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้เรามี “ทัศนคติ” ลบ ต่อคนชนชั้นกลางล่างไปถึงระดับที่เรียกได้ว่า “จน” คือการที่รัฐบาลเผด็จการผู้ไม่สนใจเรื่องความเท่าเทียมแต่อย่างใด พยายามปลูกฝังให้ประชาชนคิดว่า “คนจน คือ ภาระ” เพื่อไม่ให้มองไปเห็นความจริงที่ว่ามันคือความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารของรัฐบาลที่ไม่สามารถบริหารทรัพยากรให้กลายเป็นสวัสดิการ ที่ทำให้ประชาชนทุกนามสกุลทุกฐานะได้รับคุณภาพชีวิตพื้นฐานอย่างเท่าเทียม และไม่สามารถปกป้องสิทธิและโอกาสในการเติบโตของประชาชน จากความเห็นแก่ได้ของนายทุนต่างๆ
ฉะนั้นภาพที่รัฐบาลไร้ประสิทธิภาพและไร้มนุษยธรรม สร้างขึ้นเพื่อให้ประชากรในประเทศมองเห็น “คนจน”อันเป็นหลักฐานความล้มเหลวของรัฐบาล ก็คือภาระสังคม คนขี้เกียจ คนไม่เอาไหน ตัวเชื้อโรค หรือแม้กระทั่งคนบาป ผ่านแคมเปญสังคมที่สร้างความเข้าใจว่า คนจนเพราะใช้เงินไม่เป็น คนจนเพราะเอาเงินไปซื้อเหล้า ซื้ออบายมุขที่เห็นได้ชัดล่าสุดนี้เช่น นโยบาย“เราชนะ” ที่ช่วยเหลือประชาชนแบบสุ่มให้ สร้างภาพคนชนชั้นกลางไปจนถึงคนจน ที่ต้องคอยรุมตะครุบ “สวัสดิการแบบเอื้ออาทร”ให้ดูเหมือน “เปรตขอส่วนบุญ”
ไม่พอยังมีการสร้างข้อจำกัด ให้ประชาชนเหล่านี้เข้าถึง “ส่วนบุญ” แบบมีข้อแม้ เพื่อตอกย้ำว่าสิ่งนี้มีขึ้นได้ เพราะความ “เมตตา” ของผู้มีอำนาจเท่านั้น พร้อมทั้งย้ำตำหนิว่า“คนจนเพราะขี้เมา”เพื่อโทษคนจนออกอากาศให้สังคมช่วยติเตียนอีกแรง ผ่านข้อกำหนดที่ห้ามเอาเงินสวัสดิการช่วยเหลือนี้ไปซื้อเหล้า
กลายเป็นการปลูกฝังให้ “คนจน” ในสังคมนี้เป็นเหยื่อสังคม เหยื่อรัฐบาลซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีใคร “ตื่น” ขึ้นมามองเห็นปัญหาที่แท้จริงแล้วเรียกร้อง “รัฐสวัสดิการ” อันเป็นธรรมจากรัฐบาลเพื่อยุติความเหลื่อมล้ำนี้

อ้างอิง