สังคมที่เท่าเทียม ไม่ใช่การปล่อยให้คนพิการเข็นวีลแชร์บนถนนแย่ๆ “เท่าเทียม” กับคนอื่นแต่คือการอุดช่องว่างแห่ง “ข้อจำกัด” ให้พวกเขาเคลื่อนที่แบบใดก็ได้โดยที่ปลอดภัย “เท่าเทียม” กับคนอื่น
ทัศนคติที่ว่าการเสียภาษีเพื่อให้รัฐไปอุ้มคนจน ป่วย แก่ พิการ โดยที่พวกเขานั่งรอเงินเฉยๆ เป็นทัศนคติที่คับแคบ และไร้มนุษยธรรมเพราะข้อจำกัดเหล่านั้น เช่น ความ “พิการ” ไม่ใช่การต้องสาป ไม่ใช่การใช้กรรม ที่มนุษย์คนอื่นควรยอมรับว่าพวกเขาต้องเผชิญกับชีวิตที่ “ยากกว่า” และต้องรับผิดชอบผลแห่งกรรมนั้นเอง
และไม่ว่าพวกเขาจะพิการแต่กำเนิด ประสบอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยจนทำให้พิการ ทุกเหตุผลล้วนเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่เมื่อที่พวกเขาได้เผชิญความพลิกผัน และ “ปัญหา” ที่มากกว่าคนอื่น มาตรฐาน “ความเท่าเทียม” บนพื้นฐานเดียวกันทั้งหมดจึงยังไม่พอ
เพราะสังคมที่ทั้งเท่าเทียม และ “เป็นธรรม” จะต้องมี “มนุษยธรรม” มาประกอบด้วย เพื่อที่จะได้มองเห็นว่า แม้มนุษย์บางคนจะ “แตกต่าง” แต่พวกเขาก็มีสิทธิ์ที่จะมีความฝัน ใช้ชีวิต ขับเคลื่อนสังคม และมีคุณค่าได้เท่าที่เขาอยากมี และเป็นหน้าที่ของสังคมที่มีมนุษยธรรม จะทำการอุดช่องว่างเหล่านั้นให้พวกเขา ผ่านกระบวนการของรัฐที่เรียกว่า “รัฐสวัสดิการ”

สังคมแห่ง “รัฐสวัสดิการ” ไม่ใช่การ “สงเคราะห์” แต่สวัสดิการของรัฐบาลไทยปัจจุบันคือการทำเหมือนการดูแลประชาชนเป็นการ “ทำทาน” โดยเฉพาะสำหรับประชาชนที่มี “ข้อจำกัด” มากกว่าเช่นผู้พิการที่มีการสงเคราะห์ให้แบบมักง่าย ผ่านๆไป เหมือนถือว่าได้ทำแล้ว
เพราะสิ่งที่รัฐบาลไทยดูแลพวกเขาอยู่ตอนนี้ คือการอุดหนุนเบี้ยเลี้ยงชีพให้แต่เดิมเพียงเดือนละ 800 บาท และเพิ่งประกาศว่าจะเพิ่มให้อีก 200 บาท เฉพาะในกรณีที่เป็นผู้พิการอายุต่ำกว่า 18 ปี และมีบัตรสวัสดิการรัฐ ที่จะได้รับเบี้ยเพิ่มรวมเป็นเดือนละ 1,000 บาท แต่ถ้าใครที่ไม่มีคุณสมบัติเข้าข่ายข้างต้น ก็ได้รับแค่ 800 บาทเหมือนเดิมคิดเอาตามจริงต่อให้ต้องบีบให้เป็นการใช้เงินแบบประหยัดที่สุดก็ยังชีพได้ไม่เกิน 2 อาทิตย์เฉพาะค่าอาหาร

ความจริงแล้วคนพิการ ไม่ได้พึงพอใจจะให้ชีวิตเป็น “ภาระ” ใคร และพวกเขาอยากทำงานเท่าที่ทำได้ แต่โอกาสที่จะทำให้พวกเขามีอาชีพได้ ตั้งแต่เรื่องการศึกษา รัฐมีสวัสดิการให้ผู้พิการเรียนฟรีในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี แต่ในความจริงคือผลสำรวจสำนักงานสถิติแห่งชาติ-องค์การยูนิเซฟ พบว่ามีเยาวชนผู้พิการอายุไม่เกิน 17 ปีไม่ได้รับการศึกษาถึงร้อยละ 37.8 เพราะแน่นอนว่าช่องว่างและข้อจำกัดเหล่านั้นย่อมทำให้ครอบครัวของผู้พิการมีปัจจัยมาเอี่ยวเรื่องโอกาสและคุณภาพชีวิตของพวกเขา เพราะนอกจากแม้แต่โรงเรียนรัฐ ไม่สามารถรองรับนักเรียนพิการได้ทุกแห่ง ส่วนศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ที่สามารถรองรับได้โดยเฉพาะก็อาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นอีก นอกจากนี้การที่ผู้พิการสามารถเดินทางไปเรียนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งใครก็เป็นไปได้ยากด้วยสภาพแวดล้อมในเมืองไทย

สังคมที่เท่าเทียม ไม่ใช่การปล่อยให้คนพิการเข็นวีลแชร์บนถนนแย่ๆ “เท่าๆ” กับคนอื่น แล้วปล่อยให้พวกเขารับผิดชอบปัญหาหลังจากนั้นเอง แต่คือการอุดช่องว่างแห่ง “ข้อจำกัด” ให้พวกเขาเคลื่อนที่แบบใดก็ได้โดยที่ปลอดภัย “เท่าเทียม” กับคนอื่น
แต่สภาพแวดล้อมในเมืองไทยแม้แต่เมืองหลวง ดูเหมือนไม่มีการรับรู้ว่าในสังคมมีผู้พิการอยู่ด้วยซ้ำ ทางเท้าพังๆ ที่อย่าว่าแต่เบรลล์บล็อกหรือทางลงวีลแชร์ที่สามารถซัพพอร์ตผู้พิการเลย เพราะสำหรับคนเดินเท้าและมองเห็นได้ปกติก็ยังไม่ปลอดภัย และในเรื่องการคมนาคมอันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต หากผู้พิการไม่มีรถยนต์ส่วนตัว เรียกได้ว่าแทบจะไปไหนลำบากมาก เพราะมีรถประจำทางบางรุ่นบางสายเท่านั้นที่จะเป็นรถแอร์รุ่นใหม่ที่มีทางขึ้นรถเสมอกับทางเท้า เพื่อให้ผู้ใช้วีลแชร์เข้าไปได้เลย และแม้สถานีรถไฟฟ้าต่างๆ มีลิฟต์สำหรับผู้พิการให้ใช้แล้ว แต่กว่าจะไปถึงสถานีอย่างปลอดภัยก็ยังถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องลุ้นกันเสมอ?

ในขณะที่ในประเทศที่มีประชาธิปไตยเต็มใบ มีการสนับสนุนให้ผู้พิการทุกรูปแบบสามารถใช้ชีวิตได้อย่างที่เขาต้องการเหมือนคนอื่นๆ ให้ได้มากที่สุดเช่นในประเทศเปรู ที่พยายามยกเลิกการให้เด็กที่พิการเรียนในโรงเรียนเฉพาะ แต่ให้เด็กๆ ได้เรียนร่วมกับผู้อื่นในโรงเรียนรัฐปกติได้ โดยที่เพิ่มการฝึกอบรมให้ครูและผู้ปกครองสามารถรองรับมาตรการนี้และดูแลเด็กที่พิการได้ ทั้งในส่วนของการประกอบอาชีพ เปรูยังมีการกำหนดโควต้าให้องค์กรรัฐจ้างคนงานที่มีความพิการ 5 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานทั้งหมด และ 3 เปอร์เซ็นต์สำหรับองค์กรเอกชน
ประเทศสวีเดนมีการสนับสนุนคุณภาพชีวิตของประชาชนที่พิการอย่างจริงจังด้วยการออกกฎหมาย เช่น ระบบในอาคารต่างๆ ต้องมีการออกแบบเพื่อให้สามารถรองรับผู้พิการได้รวมทั้งถนนและที่สาธารณะจะต้องเอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้พิการด้วยเช่นกัน และผู้พิการที่มีปัญหาในการเดินทางหรือใช้ระบบขนส่งสาธารณะก็สามารถรับค่ารถจากสำนักงานประกันสังคมแห่งสวีเดนได้ ฯลฯ

การที่ “รัฐ” ปฏิบัติ และมีทัศนคติต่อ “ผู้พิการ” ในสังคมอย่างไรนั้น ไม่เพียงแต่มีผลต่อมาตรฐานการจัดหา “สวัสดิการ” มาสนับสนุนดูแลประชากรที่มี “ข้อจำกัด” ที่แตกต่าง แต่ย่อมมีสิทธิ์มีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่ต่างจากคนอื่น แต่ยังเป็นการสร้างทัศนคติ ค่านิยม ความคิดที่มีต่อคนเหล่านี้ด้วย
เช่นหากรัฐมองผู้พิการ หรือประชาชนที่มีข้อจำกัดที่หลากหลาย รวมถึงคนชรา คนท้อง ฯลฯ มีศักดิ์ศรีไม่ต่างจากคนอื่น ๆ ไม่ได้อ่อนแอกว่าคนอื่น หรือมีศักยภาพด้อยไปกว่าคนอื่น แต่ก็มีการ “คิดเผื่อ” ข้อจำกัดที่พวกเขาอาจมี และออกแบบสังคม และสิ่งแวดล้อมในเมืองให้เป็นที่ ๆ พวกเขาใช้ชีวิตได้สะดวกสบายและมีความสุขได้ไม่ต่างจากคนอื่น สังคมก็จะมองผู้คนเหล่านั้นในแบบที่ “รัฐ” มองเช่นกัน

ในขณะที่หากรัฐบาลใด มองประชากรที่มี “ข้อจำกัด” เหล่านี้ เป็นดั่งคนมีกรรม อ่อนแอ มีจุดอ่อน น่าเวทนา ก็ย่อมจัดสรร “รัฐสวัสดิการ” สนับสนุนพวกเขาเหมือนการ “สงเคราะห์” เจียดเศษเม็ดเงินดูแลพวกเขาเหมือนบริจาคทาน นอกจากนี้การที่ไม่เคยคิดเผื่อถึงคนอื่น ขาดความเห็นอกเห็นใจ(Empathy) และโชว์ความมีมนุษยธรรมแค่ตอนหาเสียง ก็แสดงออกมาผ่านการสร้างเมืองที่ไม่มีที่เผื่อให้คนเหล่านี้
เช่น ไม่มีการออกกฎหมายควบคุมการสร้างอาคารให้เป็นมิตรต่อผู้พิการการออกแบบสิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้พิการ ไม่มีการจัดสรรการศึกษาพื้นฐาน การสนับสนุนอาชีพพื้นฐานและมีคุณภาพใหกับผู้พิการ ฯลฯ
ฉะนั้นการที่รัฐ“ให้ความหมาย”ผู้คนเหล่านี้ซึ่งแสดงออกมาอย่างชัดแจ้งผ่านทุกสิ่งรอบตัว ย่อมส่งผลให้ผู้คนในสังคมมีแนวโน้มมองเห็น “ผู้พิการ” ไม่ต่างจากที่รัฐเห็น คือเป็นคนที่มีกรรม น่าเวทนา และมองเขาเหมือนผู้ที่ต้องได้รับการสงเคราะห์สงสารตลอดเวลา ซึ่งไม่เพียงจะทำให้ไม่มีใครตระหนักว่าพวกเขาควรได้รับการดูแลที่ดีกว่านี้จากรัฐ ยังทำให้มองว่าพวกเขาจำเป็นต้องรับผิดชอบ “กรรม” ของตัวเอง ไม่เพียงจะไม่ทำให้คุณภาพชีวิตพวกเขาดีขึ้น แต่สายตา และการกระทำจากคนในสังคม สามารถสร้างความรู้สึกแย่กับตัวเองให้ผู้พิการมากขึ้นโดยไม่จำเป็นอีกด้วย

การแสดงความมี “มนุษยธรรม” ในเชิงระบบ เช่นการส่งเสริมให้รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยมี “รัฐสวัสดิการ” สามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้พิการได้มากกว่า เพราะนอกจากพวกเขายังไม่ต้องได้รับการสนับสนุนเหมือนการ “สงเคราะห์” ให้ แต่ระบบผังเมืองที่ดี การออกแบบสวัสดิการอย่างมี Empathy ที่มองเห็นวิถีชีวิตและความจำเป็นของผู้พิการอย่างใช้สายตาผู้พิการมอง รวมถึงการกลั่นกรองความมีมนุษยธรรมออกมาเป็นกฎหมายที่ทำให้ผู้พิการได้มีความเป็น “คนเท่ากัน” กับคนอื่นในสังคม ย่อมเป็นคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างถาวรกว่าการมุ่งแสดงความมีมนุษยธรรม “ชั่วคราว” ให้พวกเขาผ่านการทำทานให้ตามช่องทางต่างๆ ตามวาระโอกาส
อ้างอิงข้อมูล