คุณรู้จักความกลัวมั้ยครับ … ?
ความกลัวมีหน้าตาแบบไหน ?
วันนี้ ประเทศไทยได้ประกาศ ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีที่ 27 ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แก้ไขฉบับที่ 1 (ข้อมูลจาก iLaw) ในเรื่องข้อห้ามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร สาระสำคัญคือ “ห้ามการโพสต์ข้อความที่ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวแม้จะเป็นความจริงก็ผิด” สิ่งที่น่าสนใจคือ “ความกลัว” มันเป็นความรู้สึก เราจะประเมินได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราโพสต์ไปนั้นทำให้ผู้อื่นกลัวหรือไม่ ?
เพราะพอเวลาเราพูดถึงความรู้สึกแล้วน่ะครับ มันเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ความกลัวของเราแต่ละคนมีหน้าตาแตกต่างกัน อย่างผมกลัวที่จะมีนายกโง่ แต่บางคนก็กลับไม่กลัวนะครับ ดังนั้นความกลัวนี่มันเป็นสิ่งที่ “ชั่ง ตวง วัด” ไม่ได้นะครับ โดยพื้นฐานแล้วคงไม่มีคนคิดหรอกว่าจะมีประเทศไหนเอาสิ่งที่ “ชั่ง ตวง วัด” ไม่ได้ ไปใส่ไว้ในข้อกฎหมายเพราะมันทำให้การใช้กฎหมายคลุมเครือ และพึ่งพาดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่มากจนเกินไปจนอาจทำให้เกิดมาตรฐานที่ไม่เท่าเทียมกันในการบังคับใช้

แล้วถ้ามีประชาชนนำเสนอความจริงว่า ประยุทธ์จะเป็นนายกต่อไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน แล้วผมกลัวเหลือเกินที่ประยุทธ์จะเป็นนายกต่อ เพราะประยุทธ์ก็แสดงให้เห็นถึงความโง่เขลาเบาปัญญาในการบริหารประเทศมาตลอดหลายปี ผลพวงจากการบริหารที่ผิดพลาดก็ทำให้คนไทยต้องมาอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถมีชีวิตปกติสุขได้ ทุก ๆ วันที่ผ่านไปมีผู้เสียชีวิตมากมาย ผมขอใช้กฎหมายข้อนี้ฟ้องได้มั้ยครับ เพราะหนึ่งในสิ่งที่ผมกลัวที่สุดในชีวิตคือการที่ประเทศไทยนั้นจะมีนีนายกที่มาจากเผด็จการทหารไร้ความสามารถและสติปัญญาในการบริหารประเทศ
แล้วรัฐบาลประยุทธ์มีปัญหาอะไรกับการนำเสนอความจริงเหรอครับ ถ้าเราไม่เอาความจริงมาพูดคุยกันแล้วประเทศชาติจะเดินหน้าได้อย่างไร ? หากสื่อไม่สามารถนำเสนอตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แท้จริงได้ ประชาชนจะรับทราบสถานการณ์และเตรียมตัวได้อย่างถูกต้องได้อย่างไร ? เมื่อไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างถูกต้องเพราะขาดข้อมูลในการตัดสินใจ แล้วผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร ?

การนำเสนอข้อเท็จจริงว่ามีคนตายเพราะโรคติดต่อเดือนนี้นับพันคน เพราะเกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลนั้นก่อให้เกิดความหวาดกลัวหรือไม่ ? นี่เฉพาะเรื่องโรคติดต่อ ยังไม่ได้นับรวมเรื่องอื่น ๆ ที่ การตีความกฎหมายอันคลุมเครือจะครอบคลุมไปถึงอีกมากมาย
นิติบริกรที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมา ควรได้รับการเปิดเผยชื่อนะครับ จะได้เอาไว้ให้นักเรียนนิติศาสตร์รุ่นหลังจดจำชื่อ และ ได้ศึกษาว่าการเขียนกฎหมายเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้แก่สังคมไทยจนทุกคนต้องปิดบังความจริงกันไว้เสียสิ้นนี่ต้องเขียนอย่างไร คุณละอายใจต่อวิชาชีพของตัวเองบ้างมั้ยครับตอนพิมพ์เนื้อหาของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ลงไปในหน้าจอคอมพิวเตอร์ของคุณ
เรื่องเอกสารเปิดเผยที่ไม่เปิดเผยของรัฐบาลไทยที่จ้าง AstraZeneca ผลิตวัคซีนอีกครับ เห็นแถบเซ็นเซอร์ดำมืดที่ครอบคลุมข้อความสำคัญไว้มั้ยครับ ? ปกปิด ปิดบังข้อมูลขนาดนี้ ผมบอกตรง ๆ ว่าถ้าเป็นยุครัฐบาลพลเรือนนี่คงถูกรัฐประหารไปแล้วครับคุณ สิ่งนี้มันคือเรื่องความเป็นความตายของประชาชนนะครับ พวกคุณเห็นชีวิตคนเป็นอะไร ?

หากความจริงเปรียบเสมือนแสงสว่างแห่งปัญญาแล้วนั้น คงไม่มีรัฐบาลดี ๆ ที่ไหนหรอกครับที่กลัวความจริงจนต้องออกกฎหมายมาปกปิดมันเอาไว้ คงมีแต่รัฐบาลที่สร้างเรื่องเหี้ย ๆ สารพัดเอาไว้ในความมืดมิดที่ประชาชนยังไม่สามารถมองเห็นมากมาย คงทำเรื่องเหี้ย ๆ เอาไว้เยอะมากจนตระหนักได้ว่าหากประชาชนรู้แล้วจะสั่นคลอนต่ออำนาจของตนเองจนกลัวแสงสว่างแห่งความเป็นจริงสาดส่องมาถึง กลัวแสงนี้จะไปเปิดเผยเรื่องเลวระยำที่ทำไว้ทั้งหมด กลัวจะสูญเสียอำนาจไปในที่สุด จึงออกกฎหมายมาล็อกเอาไว้ไม่ให้คน “กล้า” ที่จะพูดความจริง
การที่คุณออกกฎหมาย “ห้าม” ไม่ให้คนพูดความจริงออกมา มันก็เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนได้แล้วครับว่า คุณมีเรื่องที่ไม่อยากให้ประชาชนรับรู้อยู่อีกมากมาย คุณไม่ได้มองประชาชนเป็นคน เป็นมนุษย์ที่ต้องมีการเตรียมพร้อม เตรียมตัว มีวิจารณญาณ คิดได้ ตัดสินใจเองเป็นบนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน

… แต่กลับมองเป็นปศุสัตว์ที่ไม่ควรต้องรับรู้อะไรหรอก รู้มากไปเดี๋ยวจะตื่นกลัว ผมรู้สึกว่าผมเป็นเหมือนวัวที่ถูกเปิดเพลงเพราะ ๆ กล่อมสมองไว้ไม่ให้ตื่นกลัวก่อนจะโดนพาไปเชือดคอเพียงเพราะมือเชือดกลัวเนื้อเสียรสชาติเวลาที่ชนชั้นสูงลิ้มรสชีวิตของพวกเรา
นี่ยังไม่รวมกฎหมายอีกมาตราหนึ่งนะครับ ที่ห้ามนำเสนอความจริง แต่มาตรานั้นมีโทษจำคุกสูงสุดถึงประทงละ 15 ปีเลยล่ะครับ
ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้วครับ ผมขอยืมคำวาทะที่ได้ยินบ่อย ๆ และมักจะแว่วมากับเสียงนกหวีดมาสักคำหนึ่งครับว่า… “ถ้าไม่ผิดจะกลัวอะไร”
อ้างอิงข้อมูล