“คนนี้เค้าเป็น ‘สลิ่ม’ ไหมนะ”
นี่คือคำถามที่ใครหลายคนอาจเห็นผ่านตากับตามกลุ่มต่างๆ ใน Social Media รวมถึงหัวข้อเมาท์มอยกับเพื่อนๆ ซึ่งคำตอบว่าคนๆ นั้นเป็นสลิ่มหรือไม่นั้น ส่วนใหญ่ก็ดูกันว่าเขาได้ออกมา ตำหนิการทำงานของรัฐบาลนี้หรือสนับสนุนรัฐบาล ถ้ามีหลักฐานว่าออกมาตำหนิอยู่บ่อยครั้ง หลายๆ คนก็อนุมานไปว่าคนๆ นั้นไม่ใช่สลิ่ม
แต่แค่การออกมาตำหนิรัฐบาล จะถือว่าคนๆนั้น หลุดพ้นจากการเป็นสลิ่มแล้ว ถามจริงว่ามันไม่ง่ายไปหน่อยหรือ
เราก็เลยมีคำถาม checklist เบื้องต้นมาให้ดูกันว่าเรามีแนวโน้มจะเป็นสลิ่มหรือไม่ ลองทดสอบกันเลย

1. พินอบพิเทา/ประจบ ผู้มีอำนาจหรือไม่
แก่นแท้ของความเป็นสลิ่มคือเชื่อในอำนาจนิยมและระบบอุปถัมภ์ นั่นคือการเชื่อว่าการเกาะอยู่ข้างคนที่มีอำนาจมากกว่าไว้ก่อนจะดีที่สุด ตามค่านิยมโบราณนานมาว่า “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” ดังนั้นการออกมา call out พูดถึงปัญหาที่เห็นชัดอยู่ตำตา เบาๆบางๆนานๆครั้ง อาจเป็นแค่เกมการเกาะขบวนค่านิยมคนรุ่นใหม่ เพื่อ save ตัวเองไม่ให้ตกยุคก็เป็นได้
ลองเช็คดูว่าคนๆนั้นมีท่าทีต่อผู้มีอำนาจอย่างไร ถ้าเขาเป็นคนสุภาพนอบน้อมต่อผู้มีอำนาจ เพราะผู้มีอำนาจคนนั้นสามารถเอื้อประโยชน์ให้เขาได้ แต่กลับอวดเบ่งใส่คนที่มีอำนาจด้อยกว่าในสังคม เช่น ตอนคุยงานกัน ทำตัวนอบน้อมกับเจ้าของเงิน พูดจาสุภาพ ได้ครับ/ค่ะพี่ ตลอดเวลา แต่พอสั่งอาหารในร้าน กลับมองเหยียดและพูดจาเสียงแข็งใส่พนักงานเสริ์ฟ แบบนี้ก็มีแนวโน้มเป็น “สลิ่ม” แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลนี้ก็ตาม

2. ชอบอวดอภิสิทธิหรือไม่
หนึ่งในท่าทีสำคัญของความเป็น “สลิ่ม” คือการอวดอ้างอภิสิทธิในตัวเอง เพราะเขาไม่เชื่อเรื่องคนเท่ากัน ดังนั้นพวกเขาจึงต้องการเป็นคนที่อยู่สูงกว่าคนอื่นเสมอ (อ่านเรื่องทฤษฎี last place aversion ประกอบได้ที่นี่) ไม่แปลกที่คนๆ จะนิยมใช้เส้นสายเพื่ออำนวยความสะดวก “ทางลัด” ให้ตัวเองอยู่บ่อยๆ เช่น ชอบอวดว่ารู้จักคนนั้นคนนี้ ชอบอวดยศฐาบรรดาศักดิ์ ชอบยกยอตัวว่าเป็นที่รักของคนโน้นคนนี้มากมาย หรือชอบเรียกร้องของกำนัล/การปฏิบัติดีเป็นพิเศษจากคนอื่น ต่อให้ด่ารัฐบาลเช้าเย็น ก็อาจไม่ทำให้คนๆ นั้นหลุดพ้นความเป็นสลิ่มได้

3. เข้าใจเรื่อง Power Dynamic หรือไม่
Power Dynamic หรือพลวัตทางอำนาจ คือการเข้าใจว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนหลายๆ กลุ่มในสังคม ใครมีอำนาจเหนือกว่าใคร ใครเป็นคนโดนอำนาจกดอยู่ ความเข้าใจเรื่อง Power Dynamic จะนำไปสู่ความเข้าใจมนุษย์คนนั้นผ่านบริบททางสังคม คนที่เข้าใจเรื่อง Power Dynamic จะมีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ที่ถูกกดขี่ได้ตรงจุดมากกว่าคนที่ไม่เข้าใจ
คนที่ไม่เข้าใจเรื่อง Power Dynamic เวลามีความขัดแย้ง ก็มักจะตัดสินไปแบบลวกๆว่า “มันก็ผิดพอๆกันทั้งสองฝ่ายนั่นแหละ” (ซึ่งนั่นส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการ “กลัวเสียผู้ใหญ่ในข้อที่ 1 ด้วย) และนั่นทำให้ในหลายๆ สถานการณ์ที่ผู้ใหญ่เอาเปรียบผู้น้อย มันก็เลยกลายเป็น ผู้ใหญ่ที่ผิดจะได้รับความชอบธรรมฟรีๆ 50% ขณะที่ผู้น้อยผู้โดนเอาเปรียบก็จะมีความผิด 50% ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ทำอะไรผิด
นอกจากนี้ การไม่เข้าใจเรื่อง Power Dynamic ยังนำไปสู่ท่าทีของการวางตัวเป็นกลาง ในสถานการณ์ที่มีความอยุติธรรมเกิดขึ้นอีกด้วย ซึ่งคนเหล่านั้นแม้จะออกมา call out บ้าง แต่สุดท้ายเขาก็มักจะหาเหตุผลบางอย่างมาสร้างความชอบธรรมให้ผู้มีอำนาจอยู่ดี และก็พร้อมจะเฮโลไปเชียร์อีกฝั่ง ถ้าอีกฝั่งล้มผู้มีอำนาจได้

4. เป็นทาสลัทธิบูชาตัวบุคคลหรือไม่
การเป็นทาสลัทธิบูชาตัวบุคคลคือการพยายามแถว่าคนที่เราชื่นชอบไม่มีวันทำอะไรผิด ถึงแม้จะว่าด้วยหลักการและเหตุผลแล้วคนที่เขาชื่นชอบก็มีส่วนผิดอยู่ก็ตาม และการแถเพื่อปกป้องและสร้างความชอบธรรมให้คนที่ตัวเองชอบ แท้จริงแล้วมันไม่ได้ปกป้องคนที่เขาชื่นชอบ แต่เป็นการปกป้องอีโก้ตัวเองไม่ให้พังทลายลงต่างหาก (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความนี้ )

5. เข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้างหรือไม่
อันนี้สำคัญที่สุดเลย เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น การแก้ปัญหาระยะยาวคือการซ่อมระบบ แต่ถ้าเขามีแนวโน้มที่จะหาคนผิดมาเป็นแพะ และเชื่อว่าถ้าลงโทษคนผิดให้มันหนักๆ แล้วปัญหาก็คลี่คลายได้เอง เช่นในเรื่องโควิด-19 ถ้าคนๆ นั้นเดือดดาลเรื่องคนฝ่าฝืนเคอร์ฟิว, ร้านอาหารที่แอบเปิดให้คนนั่ง มากกว่า ความล้มเหลวของระบบการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง (ที่หมายถึงทั้งระบบที่มีประสิทธิภาพและวัคซีนทีประสิทธิภาพสูง) ก็สามารถเดาได้ก่อนเลยว่าคนๆนั้นไม่น่าจะเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้าง
ยิ่งไปกว่านั้น คนที่ไม่เข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้าง ก็มักจะเรียกร้องหา “คนดี” มากกว่า “ระบบที่ดี” อีกด้วย ยิ่งเมื่อรวมเข้ากับคุณลักษณะข้อที่ 4 แล้ว ต่อให้คนๆนั้นด่ารัฐบาลถี่ๆรัวๆ แค่ไหน มันก็ไม่ได้แปลว่าพวกเขาต้องการ “ประชาธิปไตยที่แท้จริง” พวกเขาอาจแค่ต้องการ “เผด็จการที่ภาพลักษณ์ดีกว่านี้” เท่านั้น ซึ่งนั่นก็ไม่ได้ทำให้เขาหลุดจากความเป็นสลิ่มแต่อย่างใด

สำหรับเรา “สลิ่ม” ไม่ได้แปลงว่าคนสนับสนุนรัฐบาลนี้ แต่หมายถึงคนที่ เชื่อใน อำนาจนิยม, อภิสิทธิชน, ลัทธิบูชาตัวบุคคล ที่ขาดความเข้าใจเรื่องพลวัตทางอำนาจ และปัญหาเชิงโครงสร้างไปพร้อมกัน ซึ่งนั่นไม่ได้ขึ้นอยู่กับการออกมา call out หรือเห็นด้วนกับรัฐบาลนี้หรือไม่แต่อย่างใด
แน่นอนว่าการเปลี่ยนความคิดนั้นไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไปที่จะเริ่ม สามารถเริ่มจากการท่องไว้ในใจก่อนเลยว่า “คนเท่ากัน”, “ประเทศนี้เป็นของเราทุกคน” และ “ทุกคนสามารถทำพลาดได้” ก็จะช่วยเปิดใจของเราในการรับรู้ข้อมูลใหม่ๆ มากขึ้น ที่จะนำไปสู่การตื่นรู้ในอนาคต