เคยเห็นกันไหมเวลา เราเห็นว่า คนบางคิดทำอะไรผิดพลาด พอโดนแย้งกลับแถ มิหนำซ้ำยังตามสาวกมาช่วยแถข้างๆ คูๆ
และเคยเห็นกันอีกใช่ไหมว่า คนบางคนที่พูดบางเรื่องอย่างมั่นอกมั่นใจว่าตัวเองรู้ดีที่สุดในสามโลก พอโดนแย้งกลับใช้เสียงดังเข้าข่ม ประหนึ่งมีกฎการการเถียงไว้ว่า “ใครเสียงดังกว่าเป็นผู้ชนะ” หรือ “ใครพูดคนสุดท้ายชนะ” ไปเสียได้
“ภัยความมั่น” เหล่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทางจิตวิทยามีคำตอบ

Cognitive Dissonance เมื่อสิ่งที่เรารู้ ไม่ตรงกับสิ่งที่เราเชื่อ
ลองคิดดูสิ สมมุติว่าถ้าเราชื่นชอบคนดังคนใดคนหนึ่ง แล้วเราพบว่ามีคนมาแฉเรื่องแย่ๆ ของคนดังคนนั้น นึกภาพได้ทันทีเลยใช่ไหมว่าจะต้องมีติ่งออกมาเป็นองครักษ์พิทักษ์ แน่นอนว่าองค์รักษ์เหล่านั้นไม่ได้ออกมาปกป้องแค่คนที่เขาบูชา แต่สิ่งที่พวกเขาปกป้องจริงๆคือ “อีโก้” ของตน
เรื่องนี้ทางจิตวิทยาเรียกว่า cognitive dissonance หรือ “การรับรู้ไม่ลงรอย” พูดง่ายๆคือ เวลามีข้อมูลใหม่มาขัดแย้งกับความเชื่อเดิมของตน สมองก็จะรีบหาเหตุผลมาเข้าข้างตัวเองทันที

ลองนึกถึงนิทานอีสปเรื่อง “สุนัขจิ้งจอกกับองุ่นเปรี้ยว” ดู เมื่อสุนัขจิ้งจอกพยายามกระโดดไปงับลูกองุ่นที่อยู่บนต้น แต่กระโดดอย่างไรก็ไม่ถึงสักที มันก็เดินจากไปพร้อมบอกกับตัวเองว่า “จะอยากกินไปทำไมกัน องุ่นเปรี้ยวแบบนั้น” นั่นคือตัวเองอย่างของ cognitive dissonance ที่อยู่คู่กับมนุษยชาติมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ สุนัขจิ้งจอกเลือกที่จะหลอกตัวเองว่าองุ่นมันเปรี้ยว แทนที่จะยอมรับความจริงว่าตัวเองกระโดดไม่สูงพอ
หรือเหตุการณ์ที่สุดโต่งกว่านั้น Leon Festinger นักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกัน ได้ศึกษาเรื่องลัทธิต่างๆ เมื่อ 60 กว่าปีก่อน เขาพบว่า มีบางลัทธิสร้างเรื่องลวงโลกขึ้นมาว่าโลกจะแตกในวันที่ 21 ธันวาคม 1954 และเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม มาถึง โลกกลับไม่แตกอย่างที่ว่าไว้ แต่แทนที่บรรดาสาวกจะโกรธเคืองและสาปแช่งผู้นำลัทธิ พวกเขากลับศรัทธาในลัทธิมากขึ้น ด้วยการให้เหตุผลว่า “ที่โลกไม่แตกนั้นเป็นเพราะมนุษย์ต่างดาวมาช่วยกอบกู้โลก เพราะเป็นห่วงศาสดากับบรรดาสาวกของเธอในลัทธินี้” แทนที่จะยอมรับความจริงว่าตัวเองโง่ โดนผู้นำลัทธิหลอก
ภัยความมั่นจากการปกป้องอีโก้ตัวเองอย่างสุดฤทธิ์แบบนี้ นำไปสู่การตะแบงแถข้างๆคูๆพร้อมเข้าลัทธิบูชาตัวบุคคลได้ไม่ยาก และนั่นทำให้ใครหลายคน ถอยห่างจากการใช้เหตุผลและความคิดเชิงวิพากษ์มากขึ้น ราวกับว่าเขาอยู่กับคนละเซิร์ฟเวอร์กับโลกความเป็นจริง

Dunning Kruger Effect ความโง่ที่โง่ที่สุดคือความโง่ที่ไม่รู้ว่าตัวเองโง่
อีกหนึ่งภัยความมั่น ที่เราพบได้บ่อยในโลกปัจจุบันคือ คนที่รู้อะไรแบบงูปลาๆ แต่กลับกล้าพูดกล้าเถียงออกสื่ออย่างมั่นใจ ราวกับว่าเขารู้จริงรู้ลึกในเรื่องนั้น และพอโดนถามจี้มากๆ เข้าก็เอาแต่พูดเสียงดังกลบเกลื่อน ทำตัวมั่นใจล้นๆ กลบเกลื่อนความไม่รู้ของตนเอง ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Dunning Kruger Effect หรือการไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้ นั่นเอง
ในทางจิตวิทยา ความมั่นใจของคนจะแปรสวนทางกับความรู้จริงเสมอ ถ้าเราไม่มีความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเลย ความมั่นใจของเราในเรื่องนั้นๆ จะเป็นศูนย์ถูกไหม แต่ที่น่าประหลาดคือ เมื่อเรามีความรู้เรื่องนั้นแบบงูๆ ปลาๆ ความมั่นใจของเราจะพุ่งทะยานไปเกิน 100%

ซึ่งนั่นเป็นเพราะว่า เรารู้ว่าเรารู้อะไร แต่เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไร ดังนั้นเมื่อเรามีความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งแบบผิวเผิน เราจะมั่นใจมากเป็นพิเศษ เพราะเราไม่รู้ว่ามีเรื่องอะไรอีกที่เรายังต้องศึกษาเพิ่ม และความมั่นใจแบบนี้ ทำให้เจ้าตัวคิดไปเองว่าเขาคือคนที่ฉลาดรอบรู้ที่สุดในจักรวาล ความเข้าใจผิดนี้เอง สร้างอีโก้ขึ้นมาเป็นเกราะกำบังในใจ และนั่นทำให้การถกเถียงกับคนเหล่านั้นเป็นเรื่องยากมากถึงยากที่สุด
ไม่แปลกเลยที่ว่าคนๆ นั้นต้องพูดเสียงดังๆ เอายศฐาบรรดาศักดิ์ หรือ ตำแหน่งทางวิชาการมาข่ม หรือแม้แต่การแสดงภาษากายยกตนข่มท่านใส่สนทนาตลอดเวลา นั่นมาจากเขากำลังอยู่ในบับเบิ้ลของตัวเองที่สร้างจากความมั่นใจล้นๆ ว่าเขารอบรู้ทุกอย่าง แม้ว่าเขาจะพูดอะไรโง่ๆ ไม่สมเหตุผลในสายตาคนรอบข้างอยู่ก็ตาม

คนที่อยู่ในวังวันของ Dunning Kruger Effect เมื่อเปิดใจเรียนรู้เพิ่มเติมจากเดิม เขาก็จะสามารถรู้จุดบอดทางปัญญาของตัวเองได้และอาจตกอยู่ใน “หุบเหวแห่งความสิ้นหวัง” หรือ valley of despair ที่คิดว่าตัวเองนั้นต่ำต้อย ไร้ค่า และความรู้ที่เขาศึกษามานั้นช่างน้อยนิดเสียเหลือเกิน มีสิ่งที่เขายังต้องเรียนรู้เพิ่มอีกมากมาย ซึ่งต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ๆ ในการศึกษาจนเขาเป็นผู้รู้จริง และมั่นใจในความรู้ของตัวเองได้จริงๆ
ความเชื่อของตัวเองนั้นน่ากลัวเสมอ เพราะมนุษย์สามารถหลอกตัวเองได้อย่างแนบเนียน การเปิดโอกาสให้ถกเถียง การเปิดรับความคิดเห็นใหม่ๆ และการเปิดโอกาสให้ตัวเอง “โง่บ้างก็ได้” หรือ “ล้มบ้างก็ได้” จึงเป็นหนทางสำคัญที่นำไปสู่การ “ตื่นรู้” จากภัยความมั่นในสมองตัวเองในท้ายที่สุด
ข้อมูลอ้างอิง