เคยมีการศึกษาเกี่ยวกับทัศนคติทางการเมืองของผู้คนที่สัมพันธ์กับบาดแผลจากการถูกลงโทษในวัยเด็กของ Michael Milburn ศาสตราจารย์และนักวิจัยด้านจิตวิทยาการเมืองชาวอเมริกัน
ด้วยการสำรวจจากนักศึกษาปริญญาตรีอายุเฉลี่ยประมาณ 27 ปี จำนวน 160 คน และสำรวจทางโทรศัพท์กับบุคคลทั่วไปที่มีอายุเฉลี่ยประมาณ 40 ปี พบว่าผู้ชายที่ถูกกดขี่หรือทำโทษด้วยการทำร้ายร่างกายในวัยเด็ก มีแนวโน้มโตขึ้นมาเป็นคนที่มีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม ฝักใฝ่เผด็จการ และยินดีจะลงโทษคนอื่นในสังคมด้วยวิธีการเลวร้ายแบบที่เขาเคยโดน
แต่หากได้รับการบำบัดเยียวยามาในระหว่างทาง พวกเขากลับมีแนวโน้มที่จะมีแนวคิดทางการเมืองแบบเสรีนิยม และเชื่อในมนุษยธรรมมากขึ้น
ส่วนผู้หญิงที่ถูกกดขี่ และถูกลงโทษด้วยการทำร้ายร่างกายมาในวัยเด็ก กลับกันคือมีแนวโน้มโตขึ้นมาเป็นคนที่มีแนวคิดแบบเสรีสวนทางกับผู้หญิงที่มีบาดแผลในวัยเด็กมาน้อยกว่า

ฉะนั้นจะเรียกว่าการระเบิดของแรงแค้นจากการถูกกดขี่ของคนรุ่นนี้ ที่เห็นได้ชัดเจนจากกระบวนการการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่ มุ่งทลายระบอบอำนาจนิยมอยากสร้างสังคมคนเท่ากัน เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ทลายกรอบค่านิยมชายเป็นใหญ่ กล้าวีนกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรม และตั้งคำถามกับความไม่เป็นธรรมในสังคมที่ถูกทำให้เป็นเรื่องปกติมาหลายชั่วคน
…ล้วนเป็นผลจากการถูกกดขี่ และโหยหาความเป็นธรรมมาตลอดชีวิตก็ได้

เพราะมวลชนที่ออกมาตะโกนอยู่บนถนนทุกวันนี้ ล้วนเป็นเด็กที่โตมาในบ้านที่ถูกพ่อแม่ปิดกั้นความคิด ใช้อำนาจเผด็จการในครอบครัว ห้ามลูกเถียง ห้ามลูกพูดในสิ่งที่ไม่ควรพูด ห้ามลูกแสดงความคิดเห็น เจ้ากี้เจ้าการเรื่องตัวตนของลูก ดูถูกลูก ชอบเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น ให้ความเป็นธรรมลูกไม่เท่ากัน ไปจนถึงขั้นทำโทษด้วยการทำร้ายร่างกายลูก หรือเด็กผู้หญิงที่ถูก slut shaming จากคนในบ้าน ถูกห้ามแต่งหน้าทาปาก ถูกห้ามคบเพื่อนผู้ชาย ฯลฯ
อีกทั้งยังถูกกดขี่จากสังคมอีกแรงด้วยการถูกสอนกึ่งบังคับให้เชื่อสิ่งที่ต้องเชื่อ ถูกล้างสมองให้มีความสุขกับการเป็นทาส ถูกกดให้ก้มหัวให้คนอายุมากกว่าที่คิดว่าตนถูกที่สุดตลอดเวลา ไปจนถึงถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพเบื้องต้นห้ามแม้แต่สิทธิในการคิดสิ่งที่อยากคิด พูดสิ่งที่อยากพูด ทำทรงผมแบบที่อยากทำ สวมชุดที่อยากสวม และเป็นตัวเองอย่างที่อยากเป็นฯลฯ
เด็กที่ถูกกดขี่มาตลอดชีวิตจนเซนซิทีฟกับ “ความไม่เป็นธรรม” เป็นพิเศษ
จึงกำลังทวงคืนความเป็นธรรม และชดใช้ให้ตัวเองในรูปแบบที่คนรุ่นพ่อแม่ไม่เคยกล้าหาญพอจะทำ

การเยียวยาบาดแผลอันเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้เด็กโตขึ้นมาฝักใฝ่อำนาจนิยมหรือไม่อาจไม่ได้จำกัดเพียงแค่ “การบำบัด” อย่างจริงจังที่ต้องถึงมือแพทย์แต่หมายรวมถึงการ “ฮีล” ตัวเองด้วยการยอมรับ และโอบกอดบาดแผลเหล่านั้น
โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนรุ่นที่เชื่อในอำนาจนิยมมากเกินกว่าจะเบิกเนตร กับคนรุ่นใหม่ที่ออกมาตะโกนเรียกร้องความเป็นธรรมอยู่ในม็อบ ซึ่งล้วนโตมากับบาดแผลของการถูกกดขี่รูปแบบที่แทบไม่ต่างกัน แต่กลับมีแนวคิดที่มีวุฒิภาวะต่างกันอย่างสิ้นเชิง เป็นเพราะได้รับการ “บำบัด” แตกต่างกัน
ซึ่ง “ยาดี” ของคนรุ่นใหม่นี้คือ “ความจริง” ที่ปลดปล่อยพวกเขาจากความเจ็บปวดที่เต็มไปด้วยความไม่เข้าใจ
ด้วยความที่โลกพัฒนาไปไกลแล้วจนทำให้มีช่องทางเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลายและเปิดกว้างมากกว่า ทำให้รับรู้ว่าการถูกกดขี่ไม่ใช่เรื่องปกติ และมีโอกาสได้ “ตั้งคำถาม” จนพบว่าคุณภาพชีวิตที่ใครๆ อ้างว่าเป็นปกติธรรมดานั้น แท้จริงแล้วพวกเขากำลังถูกเอาเปรียบจากสังคมที่สอนให้ก้มหัวให้กับอำนาจเป็นธรรมอย่างไร้เงื่อนไข

เมื่อได้รู้ถึงต้นเหตุแห่งปัญหา ต้นตอของวัฒนธรรมบูชาอำนาจนิยมที่ทำร้ายพวกเขามาตลอดชีวิต ปมในใจที่ตระหนักว่าโลกใบนี้ช่างอันตราย เพราะเกิดจากการถูกสอนให้เชื่อว่าโลกนี้มีเงื่อนไขความไม่เป็นธรรมที่มีเหตุผลมากพอจะขยี้จิตวิญญาณของเยาวชนไม่ว่าด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ก็มลายหายไป
จากนั้นเมื่อเกิดการเข้าใจ บาดแผลก็ถูกเยียวยา และเมื่อสามารถมองเห็นปัญหาชัดเจน พวกเขาจึงอยาก “แก้ไข” ปัญหาที่พวกเขามองเห็นอย่างถ่องแท้ เพื่อไม่ให้ระบอบที่สร้างปัญหานั้นทำร้ายคนรุ่นหลังได้ต่อไปอีก เพราะรู้ดีถึงรสชาติความเจ็บปวดจากความไม่เป็นธรรมเหล่านั้นดี จนมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับใครต่อไป

ส่วนความ “ป่าเถื่อน” ที่แท้ คือเด็กที่เยียวยาบาดแผลจากการถูกกดขี่และถูกทำร้ายในวัยเด็กของตัวเอง ด้วยการยินดีสืบทอดการกดขี่นั้นต่อมายังรุ่นหลังต่างหาก
การศึกษาของ Michael Milburn บอกว่าเด็กที่โตมากับความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย ถูกลงโทษด้วยการลงไม้ลงมือ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำให้ตระหนักว่ามีอันตรายเสมอ และไม่เคยได้รับการเยียวยารักษาให้เข้าใจสิ่งต่างๆ อย่างเป็นจริง มักโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่เชื่อในระบอบอำนาจ ที่มีกฎเผด็จการควบคุมสังคม และเชื่อในการลงโทษที่รุนแรงเช่นการประหารชีวิต คล้ายเชื่อว่ามนุษย์ล้วนมีความรุนแรงป่าเถื่อนที่ต้องกำราบเด็ดขาด มากกว่าจะเชื่อในมนุษยธรรม
การเป็นเด็กที่ไม่เคยมองเห็นกลไกของปัญหา และยังคงชื่นชมระบอบอำนาจนิยมที่ทำร้ายตนมาในวัยเด็ก เพียงเพื่อปลอบใจตนว่าการถูกทำร้ายที่เคยเผชิญมาคือสิ่งดีงามแล้ว ซึ่งง่ายกว่าการทำให้ตัวเองเข้มแข็งพอที่จะตระหนักว่าตนถูกทำร้ายอย่างไม่เป็นธรรม เพื่อนำไปสู่การเยียวยาตัวเองด้วยการมองเห็นและเข้าใจความเป็นจริง
จนโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่เอา “ความดีงาม” ที่ตนเคยใช้หลอกตัวเองมาไล่ฟาดคนรุ่นต่อไป เพื่อสืบทอดระบบที่เคยกดขี่ตน ให้กดขี่คนรุ่นหลังต่อไปเพียงเพราะตนเคยโดนมาแล้วต่างหาก คือ “ความรุนแรง” ของแท้ เพราะคือการบ่อนทำลายชีวิตคนรุ่นลูกหลานต่อไปในระยะยาว

ฉะนั้นการหันหน้าไปสู้กับกระบอกปืนของรัฐที่ใช้อำนาจอันไม่เป็นธรรมกดขี่ประชาชนมายาวนาน เพื่อปลดแอกความเป็นทาสให้กับคนทั้งประเทศ
กับการเดินไปตบหน้าสำเร็จโทษใครสักคนเพียงเพราะไม่แสดงท่าทีศิโรราบต่ออำนาจของใครสักคนเหมือนกับตน …จึงจะมาเป็น “ความรุนแรง” เหมือนกันไม่ได้
ใครหลายคนโดยเฉพาะคนอายุมากที่เรียกตัวเองว่าผู้ใหญ่ ที่ไม่เคยใจกว้าง และมีวุฒิภาวะความเป็นมนุษย์มากพอจะมองเห็นความเป็นจริงในมุมของคนอื่นด้วยความมี empathy อาจปักใจเชื่อว่าเด็กรุ่นหลังของตนนั้นก้าวร้าว และจิตใจหยาบกระด้างมากขึ้น จึงกล้าตะโกนคำผรุสวาท กล้าสาดความโกรธแค้นชิงชัง กล้าที่จะทวงความยุติธรรมให้ตัวเองด้วยวิธีที่ถูกมองว่าป่าเถื่อนเข้าไปทุกวันแทนที่จะคลานเข่าเข้าไปขอ
แต่ความจริงแล้วแรงโกรธแค้นชิงชังเหล่านี้ อาจกำลังบอกสิ่งที่ตรงข้ามกับหน้าตาของมัน นั่นคือภาพของใจที่เจ็บปวด และความเชื่อในมนุษยธรรม ที่ไม่อยากให้คนรุ่นหลังหรือรุ่นไหนก็ตามต้องพบเจอกับการถูกกดขี่ และความเลวร้ายอย่างที่พวกเขาเคยเผชิญมาอีกต่อไปแล้ว และในขณะเดียวกันก็ไม่เคยคิดที่จะสปอยล์ตัวเองแบบเห็นแก่ตัว และไร้ความเคารพตัวเอง ด้วยการเล่นระบบ “โซตัส” ระบายความเจ็บแค้นที่เก็บกดมาในวัยเด็ก ด้วยการลงที่คนรุ่นต่อไปเหมือนอย่างที่ผู้ใหญ่ในอดีตเคยทำ

อ้างอิง
1-https://psycnet.apa.org/record/1996-14193-001
2-https://thereader.mitpress.mit.edu/authoritarianism-in-training-donald-trump-roots-of-anger/
3-https://mitpress.mit.edu/blog/five-minutes-michael-milburn-and-sheree-conrad