ความสัมพันธ์กับ “พ่อแม่” ก็สามารถเป็น “Toxic Relationship” ซึ่งเป็นพิษต่อชีวิตได้เหมือนกัน โดยคนไทยหลายคนที่ถูกสอนให้เคารพเทิดทูนพ่อแม่ดั่ง “พระในบ้าน” อาจกล้าที่จะตั้งคำถามถึงความเป็นพิษในความสัมพันธ์นี้น้อยกว่าในบริบทอื่นๆ เช่น คู่รัก ฯลฯ
เพราะตอนที่เรายังเด็ก “ครอบครัว” และพ่อแม่เป็นดั่งโลกทั้งใบของเรา การคิดกระด้างกระเดื่องต่อสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุดอาจยากเกินไป จนเราเผลอรับเอาความเป็นพิษเหล่านั้นเข้ามาทำลายชีวิตเราไปตลอดโดยไม่รู้ตัว
โดยสารตั้งต้นของ “ความสัมพันธ์เป็นพิษ” ทุกรูปแบบ คือ “Power Dynamic”หรือ “พลวัตอำนาจ”
ซึ่งกัดกินตัวตน ความสามารถในการเคารพคุณค่า ไปจนถึงสิทธิเสรีภาพของใครก็ตามที่อยู่ในจุด “ต่ำกว่า” ในความสัมพันธ์นั้น
ฉะนั้นความเอ็นจอยใน “อำนาจนิยม” เป็นทุนของคนไทยจึงทำให้ประเทศนี้เต็มไปด้วย “Toxic Parents” ที่นอกจากจะไม่คิดเอะใจว่าตนกำลังทำร้ายลูกอยู่อย่างไร ยังหลงภาคภูมิใจกับการได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือลูกอีกด้วย

“Toxic Relationship” กับพ่อแม่ มีหน้าตาไม่แตกต่างจากบริบทอื่น เช่น การดูถูกเหยียดหยามเหมือนตั้งใจจะบดขยี้ความเคารพตัวเองทั้งหมดที่เรามี โดยอ้างว่าเป็นกลยุทธ์ผลักดันให้ได้ดี ไปจนถึงการจำกัดขอบเขตอิสรภาพ เจ้ากี้เจ้าการกับอัตลักษณ์และความคิด ขยันป้อนความรู้สึกผิดให้ และการที่มีคนใดคนหนึ่งถูก/ผิดเสมอ ฯลฯ
แต่ความน่ากลัวของ Toxic Parents โดยเฉพาะแบบไทย ๆ คือ “หนีไม่ได้” เพราะนอกจากการที่ไม่มีสวัสดิการดูแลเยาวชนให้สามารถโตขึ้นอย่างมีคุณภาพได้โดยปราศจากพ่อแม่ จนทำให้เด็กจำต้องง้อพ่อแม่เป็นหลักเพื่อให้เลี้ยงดูและส่งให้เรียน ซึ่งเลวร้ายยิ่งกว่าการที่คู่รัก Toxic กักขังอีกคนไว้ด้วยการทำให้อีกคนรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าเสียอีก
เพราะเงื่อนไขที่ทำให้เด็กจำยอมเพื่อตอบสนองความคิด ความเชื่อ และการควบคุมของพ่อแม่ที่เป็นพิษนั้นอาจถูกข่มขู่ให้เดิมพันกับสวัสดิภาพของเด็ก เช่นการขู่ให้ลูกทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ มิฉะนั้นจะกักบริเวณ งดค่าขนม ไม่ส่งให้เรียน ไปจนถึงทำร้ายร่างกายให้บาดเจ็บทั้งทางกายและทางอารมณ์ ฯลฯ

ค่านิยมเชิดชู “บุพการีเป็นพิษ” ยิ่งทำให้เด็กไทยจะหลุดพ้นจาก “พ่อแม่ที่เป็นพิษ” ยากขึ้น ซ้ำยังเป็นการสนับสนุนค่านิยม normalize “การก่ออาชญากรรมต่อลูกในนามของความรัก” ด้วย “การทารุณกรรมเด็ก” (Child Abuse) อีกด้วย
เช่นการ romanticize วัฒนธรรม “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ที่เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมไปด้วย “ความหวาดกลัว” ให้เด็ก
ด้วยการอ้างว่า “ตีเพราะรัก” ทุกครั้งที่ลงมือทำร้ายลูก แถมยังยื่นบัตรผ่านให้ครูที่โรงเรียนตีลูกตัวเองต่อได้อีก
จนไม่ว่าลูกจะไปที่ไหน ก็ต้องคอยระแวงว่าตนจะถูกทำให้หมดความนับถือตัวเอง หรือถูกทำร้ายให้เจ็บใจเจ็บกายด้วยคำพูด หรืออาวุธแบบใดบ้าง จนไม่เหลือเวลาและพลังไปขบคิดว่าตนอยากเป็นใครบนโลกใบนี้
เพราะเอาแต่กลัว และไม่มั่นใจว่าความคิดของตนจะ “ถูกต้อง” หรือถูกใจผู้ใหญ่หรือไม่ อีกทั้งยังไม่เคยแน่ใจว่าความจริงแล้วพวกเขามี “สิทธิ์” ที่จะกำหนดทิศทางของตัวเอง หรือแม้กระทั่งมีสิทธิ์มีเสียงที่จะสร้างสรรค์โลกใบนี้หรือไม่ด้วยซ้ำ

ทั้งที่มีงานวิจัยมากมายที่ยืนยันว่าการเลี้ยงลูกด้วย “ความกลัว” ไม่สามารถสร้าง “คนที่มีความสุข” ขึ้นมาได้ และแม้ว่าโลกจะพยายามสร้างความตระหนักความเท่าเทียมและให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงเด็กที่ถูกต้องมากขึ้นแล้ว
แต่พ่อแม่ไทย ๆ กลับยังคงยึดมั่นอยู่กับความเชื่อเดิมว่าการทำให้ลูกศิโรราบต่ออำนาจของตนจน “หลาบจำ” นั้นมีพลังมากกว่าการไกด์ให้ลูก “ทำความเข้าใจ” สิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ประหนึ่งคนเหล่านี้เชื่อในพลังแห่งความ “กลัว” มากกว่าความเชื่อใน “มนุษยธรรม” ของผู้อื่น
เพราะ “คนเราไม่อาจหยิบยื่นสิ่งที่ไม่มีได้” รวมถึงประสบการณ์ในการสร้างคน “พ่อแม่บ้าอำนาจ(นิยม)” เหล่านี้จึงป้อนอาหารเมนูเดียวกับที่ตนเคยถูกป้อนให้เมื่อวัยเด็ก ให้แก่ลูกตัวเองอีกทอด
เพราะพ่อแม่ที่เคยถูกเลี้ยงดูมาโดย Toxic Parents แต่ไม่เคยทำความเข้าใจบาดแผลเหล่านั้น อีกทั้งยังอ่อนแอเกินไปที่จะกลับไปเยียวยา “Inner Child” ที่บาดเจ็บของตัวเอง จึงกลืนความขมขื่นในวัยเด็กนั้นลงคอไป จนกว่าบาดแผลเหล่านั้นจะกลับมาหลอกหลอนยามที่วาระคล้ายคลึงกันเวียนมาถึง
เหยื่อของพ่อแม่เป็นพิษที่เลี้ยงดูลูกด้วยความกลัวเหล่านั้น เมื่อโตขึ้นกลายเป็นพ่อแม่คน เป็นครูสอนนักเรียน เป็นผู้กำหนดหลักสูตรการศึกษา เป็นรัฐมนตรีที่ดูแลการศึกษาและเยาวชน เป็นผู้นำประเทศ ฯลฯ ในทุกวันนี้
จึงส่งต่อ “วิธีสร้างคน” แบบที่เคยสร้างพวกเขามาไปยังรุ่นถัดไป ด้วยความยึดมั่นที่หลอกตัวเองว่า “การก่ออาชญากรรมในนามของความรัก” ต่อเด็ก และการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วย “ความกลัว” ให้เด็ก คือวิธีสร้างคนที่ “มีประสิทธิภาพ” เพื่อเป็นการยืนยันว่าตนผู้เป็นหนึ่งในผลผลิตของวิธีอันเป็นพิษเหล่านั้นเองก็มีประสิทธิภาพ

ความจริงแล้วทุกหัวหงอกหัวดำในประเทศนี้ล้วนถูกหล่อเลี้ยงมาด้วยความกลัวเพราะ “ระบบอำนาจนิยมในครัวเรือน” และ“ระบอบอำนาจนิยม” ในภาพใหญ่ล้วนหล่อเลี้ยงและสัมพันธ์กัน
คนไทยที่ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเอง มีความคิด ความเชื่อเป็นของตัวเอง และไม่สามารถเป็นอิสระจากการควบคุมจากคนที่มีอำนาจกว่า จนทำให้ไม่รู้สึกมั่นคงปลอดภัยแม้ในครอบครัวที่ควรเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ที่สุด ย่อมไม่แปลกที่จะติดนิสัยแห่ง “ความกลัว” ออกมายามที่พวกเขาเติบโต
หากไม่กลายเป็นคน “ขี้กลัว” ที่กลัวอำนาจและความไม่เป็นธรรมทุกรูปแบบ จนไม่กล้าตั้งคำถามกับอำนาจที่กดขี่ตนอยู่ และลุกขึ้นสู้กับความไม่เป็นธรรมเหล่านั้นเพื่อตัวเองและสังคม แต่กลับชื่นชมความ “ยอมเก่ง” ว่าเป็นความนอบน้อม และปลอบใจความไม่สู้ของตนว่าเป็นความ “รักสันติ”
อีกทั้งยังกลัวที่จะมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกสิ่งที่เป็นธรรมกับตัวเอง ด้วยความที่ไม่ถนัดการ “เลือกเอง” จึงอาจยอมรับการมีรัฐบาลเป็นเผด็จการ ที่จูงคนอายุมากที่มีอำนาจมาเลือก “ผู้นำประเทศ” ผู้ถือสวัสดิภาพและความเป็นความตายของประชาชน เพราะไม่แน่ใจว่าตนมีสิทธิ์ทักท้วงอะไร

หรือไม่ก็เป็นฝ่าย “สร้างความกลัว” ให้คนอื่น เช่น มีนิสัยเผด็จการ สนับสนุนเผด็จการ กระหายอำนาจ ฯลฯ เพื่อเยียวยาตัวเองด้วยการเล่นบท “พ่อแม่เป็นพิษ” นั้นซ้ำเสียเอง เพื่อยืนยันกับตัวเองว่าตนไม่ได้ถูกทำร้าย แต่ความเป็นพิษแบบที่พ่อแม่ทำให้เห็นมาตลอดคือความเข้มแข็งที่สร้างให้พวกเขาเติบโตอย่างน่าชื่นชมต่างหาก
ซึ่งไม่ว่า “ความกลัว” ที่ “ครอบครัวที่เป็นพิษ” หล่อเลี้ยงมนุษย์คนหนึ่งจนส่งออกมาสู่สังคมนั้นจะสะท้อนผลออกมาแบบใด แต่ทุกรูปแบบล้วนขับเคลื่อนระบอบ “อำนาจนิยม” นี้ต่อไปไม่รู้จบ
นี่อาจเป็นเหตุผลที่คนยุค “เบิกเนตร” ตัดสินใจมีลูกน้อยลงก็เป็นได้…
เพราะพวกเขาอยากร่วมรับผิดชอบสังคม ด้วยการหยุดวงจรอุบาทว์ที่สร้าง“สังคมแห่งความกลัว” เพราะไม่แน่ใจเต็มร้อยว่าพวกเขาจะกลายเป็นพ่อแม่แบบที่พวกเขาเคยกลัวหรือไม่
อ้างอิง
1-https://www.psychologytoday.com/us/blog/freedom-learn/201903/the-many-shades-fear-based-parenting