ชวนดู Sex Education ซีซั่น 3 ซีรีส์ที่ไม่ได้สอนแค่เรื่องเพศศึกษาแบบเข้าใจง่าย…แต่ซีซั่นนี้ยังคล้าย “สังคมไทย” แบบจำลอง

ชวนดู Sex Education ซีซั่น 3 ซีรีส์ที่ไม่ได้สอนแค่เรื่องเพศศึกษาแบบเข้าใจง่าย…แต่ซีซั่นนี้ยังคล้าย “สังคมไทย” แบบจำลอง


เชื่อว่าแฟนซีรีส์เรื่องนี้หลายคนคงดูซีซั่น 3 กันจบไปแล้ว แต่สำหรับใครที่ยังไม่ดู วันนี้ We Think ก็ถือโอกาสชวนเปิดใจมาเจียดเวลาดูซีรีส์ที่ครั้งหนึ่งเคยมีการเรียกร้องให้ “หยุดฉาย” ในประเทศไทยมาแล้ว

Sex Education ซีรีส์วัยรุ่นประเทศอังกฤษ จาก Netflix ว่าด้วยเรื่องราวของชีวิตนักเรียนไฮสคูล ที่เต็มไปด้วยเรื่องที่ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ รวมทั้งเรื่อง “เพศ” ทั้งในบริบทของการค้นหาอัตลักษณ์ และกิจกรรมบนเตียง ที่เป็นตัวแปรของความสัมพันธ์ว้าวุ่นฉบับวัยรุ่น โดยในระหว่างเส้นทางเหล่านี้ มี “โอทิส” เพื่อนนักเรียนที่มีแม่เป็นนักจิตวิทยาผู้ให้คำปรึกษาด้านความสัมพันธ์รวมถึงเรื่องบนเตียง ร่วมกับ “เมฟ”สาวหัวกะทินักสตรีนิยม รวมหัวกันทำโปรเจ็คต์ “Sex Clinic” เพื่อให้คำปรึกษาเรื่อง Sex แก่เพื่อนนักเรียน

ซึ่งไม่แปลกที่แรกฉายซีซั่นหนึ่ง จะมีผู้ใหญ่ไทยๆ พากันออกมาเรียกร้องให้ “แบน” เพราะซีรีส์เรื่องนี้สามารถให้ความรู้เรื่อง “เพศศึกษา” กับคนไทย ได้มากกว่าหลักสูตร “เพศศึกษา” ที่เคยได้เรียนกันมาทั้งชีวิตเสียอีก
ซึ่งไม่ใช่แค่สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่อง Sex ยังทำลายค่านิยม และอุดมคติผิด ๆ เกี่ยวกับ Sex ที่คนไทยถูกสอนและปลูกฝังมาทั้งชีวิต
เช่น ประเด็นของ lgbtq+กับครอบครัว,การทำแท้งถูกกฎหมาย, การถูกล่วงละเมิดทางเพศ, อาการจิ๋มล็อค, อุดมคติผิดๆ เรื่องขนาดอวัยวะเพศ,ความเคารพคุณค่าในตัวเองกับ Sex, มิติที่หลากหลายของรสนิยมทางเพศแม้กระทั่งการเตรียมตัวก่อนมี Sex ประตูหลังอย่างถูกวิธี ฯลฯ

โดยเฉพาะซีซั่นนี้ ที่ไม่เพียงยังคงคอนเซ็ปต์ “เพศศึกษาฉบับบันเทิง” แต่เหมือนกับกำลังบอกเล่าและเสียดสีสภาพสังคม วัฒนธรรมการศึกษา และค่านิยมในการสร้างสังคมปลอด Sex แบบไทย ๆ ได้หลายประเด็น ประหนึ่งมาทำรีเสิร์ชที่ไทยไปเขียนบทเลยทีเดียว

“กฎระเบียบ” และวินัยที่ไม่สมเหตุสมผล ไม่มีประโยชน์ใดนอกจากปลูกฝังความเคยชินในการ “ถูกลิดรอนเสรีภาพ”

หลังจากที่โรงเรียนมัวร์เดลมีชื่อเสียงในการเป็นโรงเรียนที่ให้ความรู้เรื่อง Sex แบบเปิดกว้าง จนบอร์ดบริหารอยากแก้ไขภาพลักษณ์ด่างพร้อยจากการสนับสนุนเสรีภาพเรื่องเพศจึงนำมาซึ่งภาพของการบังคับแต่งเครื่องแบบห้ามแต่งตัวด้วยสีสันฉูดฉาด การมีระเบียบวินัยเคร่งครัด และการสอนให้ระงับอารมณ์ทางเพศ ฯลฯ ซึ่งเป็นดั่งหายนะครั้งใหญ่ของวัยรุ่นใน Sex Education SS3

แต่สำหรับคนไทยที่นั่งดูซีรีส์เรื่องนี้อยู่ คงรู้สึกอดสูไม่น้อย ที่ภาพสะท้อนการถูก “ลิดรอนเสรีภาพ” เหล่านี้กลับเป็น “ความปกติ” ที่เราทุกคนเคยผ่านมาทั้งสิ้น

เพราะในขณะที่ในซีรีส์ยังมีนักเรียนหลายคนกล้าลุกขึ้น“ปลดแอก”และตระหนักว่าตนมีสิทธิ์ตั้งคำถามกับกฎที่ไม่แฟร์ แต่คนไทยกลับยอมรับได้มาตลอด เพราะนอกจากถูกปลูกฝังให้ยอมรับการโดนกดขี่ด้วยความเป็นระเบียบวินัยที่ไม่จำเป็นจากที่โรงเรียน เช่น การบังคับทรงผม บังคับใส่เครื่องแบบ และบังคับไปยันยี่ห้อถุงเท้ารองเท้าในบางโรงเรียน ฯลฯ จนเชื่อว่าตนไม่มีสิทธิ์มี “เสรีภาพ” แล้ว

การถูกสังคมรอบตัวรวมถึงคนในบ้านก้มหัวต่อกฎเกณฑ์ของอำนาจนิยมให้ดูเป็นตัวอย่าง ยิ่งทำให้หลายคนเข้าใจผิดไปว่าการถูกลิดรอนเสรีภาพแบบนี้ เป็น “วินัย” ที่น่าชื่นชม
ส่วนการกล้าตั้งคำถามวิเคราะห์ ถกเถียง ถึงความสมเหตุสมผลของกฎเกณฑ์ต่าง ๆ กลับกลายเป็น “ความก้าวร้าว” ที่คนดีไม่ทำกัน สุดท้ายจึงไม่เหลือโอกาสให้สังคมไทยคิดต่อกันว่าวินัยแบบไหนมีประโยชน์หรือไม่ เสียเวลาและทรัพยากรสูญเปล่าหรือไม่ แต่กลับผลิตคนคลั่งวินัยและกฎระเบียบ ที่ดีแต่ท่องตามกันไปมาเหมือนไม่มีความคิด

หยุดยัดมาตรฐาน “โลกนี้มีแค่สองเพศ” ลงไปในระบบการศึกษาเพื่อ“จำกัดเสรีภาพทางเพศ”

จากที่ We Think เคยพูดถึงการจำกัดเรื่อง “เพศ” เพื่อควบคุมมนุษย์ในบทความที่แล้ว… ภาพของระบบการศึกษาที่พยายามแยก “เพศ” ของเด็กตาม “อวัยวะเพศ”ผ่านการเข้าแถว และแยกสอนเพศศึกษาตามเพศสภาพในซีรีส์เรื่องนี้สะท้อนภาพนั้นได้ดี

ซึ่งการจำกัด “เพศ”ไว้ให้สามารถแบ่งได้แค่ “สองเพศ” เท่านั้น ไม่ใช่แค่เรื่องของทัศนคติหัวโบราณ หรือการขาดความรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่เป็นเรื่องของการแสดง “อำนาจ” การควบคุมคน และการจำกัด “สิทธิเสรีภาพ”

เพราะการยึดเกณฑ์ว่าโลกนี้มีแค่ “ชายกับหญิง” ทำให้ยังคงสามารถใช้เงื่อนไขค่านิยมแบบ “ปิตาธิปไตย” มาจำกัดควบคุมคนได้ ให้ชายจำต้องเสียสละและเข้มแข็ง ส่วนหญิงจำต้องเชื่อฟัง ถอยหลังและปรนนิบัติ
อีกทั้งเป็นการตอกย้ำว่า“เสรีภาพทางเพศ” มีราคาแพงสำหรับผู้คนที่อยู่ใต้อำนาจ

ฉะนั้นในโรงเรียนไทย จึงไม่เพียงพยายามแยกแถวชายหญิงให้ปะปนกันน้อยสุดเหมือนกลัวจะเกิดแรงดึงดูดทางเพศตลอดเวลา แต่ยังมีการตอกย้ำ “เสรีภาพที่จำกัด” ด้วยการลดทอนคุณค่าความหลากหลายโดยการทำให้เหล่า LGBTQ+ เป็นตัวตลกอีกด้วย

การเสี้ยมสอนให้คนกลัว Sex ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับSex

ใน Sex Edudation ซีซั่น 3 ดร.จีน มิลเบิร์น นักจิตวิทยาด้านความสัมพันธ์และ Sex ให้สัมภาษณ์ในรายการทีวีว่า “โรงเรียนที่สอนให้วัยรุ่นรักนวสงวนตัว มีอัตราวัยรุ่นท้องและติดโรคสูงกว่าโรงเรียนที่สอนเรื่องเพศแบบเปิดกว้าง”
ไม่ต่างจากประเทศแถวนี้ที่สอนให้คนระงับความต้องการทางเพศเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาทางเพศ เหมือนสอนคนลดความอ้วนด้วยการอดอาหาร ที่ยิ่งทำเป็นเบือนหน้าจากเรื่อง Sex ที่คือความปกติของการเป็นมนุษย์เท่าไหร่ ผู้คนในสังคมก็ยิ่งเข้าใจเรื่องนี้ และสามารถจัดการกับปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับ Sex ได้น้อยลงตามไป แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำให้ผู้คนมี Sex กันน้อยลง

แต่วงจรอุบาทว์แห่งปัญหานี้ในสังคมไทยก็ยังคงวนไปไม่รู้จบ ด้วยน้ำมือของผู้ใหญ่ที่อวดรู้แต่ไม่รู้จริงในเรื่องเหล่านี้ ทั้งยังมาจากทัศนคติที่ไม่เคารพเสรีภาพการเลือกของคนอื่น

ในโรงเรียนไทยจึงยังคงมีครูที่คอยเดินตรวจอาคารเพื่อป้องกันนักเรียนมาแอบมีกิจกรรมทางเพศกัน แต่ไม่เคยสอนวิธีมี Sex อย่างปลอดภัย
มีครูที่สาธยายว่าชีวิตจะล้มเหลวแค่ไหนหากท้องก่อนวัยอันควร แต่ไม่สนับสนุนการคุมกำเนิดและต่อต้านการทำแท้ง
อีกทั้งยังเต็มไปด้วยครูที่ห้ามนักเรียนหญิงแต่งหน้าแต่งตัวสวยเกินไปจนทำให้นักเรียนชายมีอารมณ์ทางเพศ ทั้งที่ตัวเองในตอนวัยรุ่นก็ยังอยากมีแฟนไว้จู๋จี๋เหมือนกัน แต่ยังกล้าคาดหวังว่าคนรุ่นหลังต้องมีอารมณ์ทางเพศน้อยลงให้ได้ แทบไม่ต้องพูดถึงการที่เพศอื่น ๆ จะมีโอกาสเรียนรู้เรื่องกิจกรรมทางเพศแบบของตัวเอง

ต้องเป็นความด้อยปัญญาเบอร์ไหน ถึงจะเป็นสังคมที่สอนเพศศึกษากันแบบอ้ำๆ อึ้งๆ แต่หวังจะเป็นสังคมที่ปราศจากความด่างพร้อยจากปัญหาเรื่องเพศ

ความหลากหลาย และ “เสรีภาพ” คือพลังที่ “เผด็จการ” กลัวที่สุด

หลังจากที่นักเรียนในโรงเรียนมัวร์เดล ค่อยๆ ถูกครูใหญ่ลิดรอนเสรีภาพ และ “เล็มปีก” ของพวกเขา ผ่านการออกกฎระเบียบและจำกัดการแสดงออกต่าง ๆ ตั้งแต่การบังคับสวมเครื่องแบบ จำกัดทรงผม เดินเรียงแถวเหมือนสังคมเผด็จการ ฯลฯ

แต่จุดที่เป็นดั่ง “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่ทำให้ทุกคนหยุดอดทนกับการกดขี่และลิดรอนเหล่านี้ คือการบังคับให้งดแสดงออกอัตลักษณ์ทางเพศ และจำกัดความคิดสร้างสรรค์ที่มีแรงขับจาก“พลังทางเพศ” ซึ่งเชื่อมโยงกับตัวตนภายใน และความเคารพคุณค่าในตัวเองของพวกเขา

เพราะเรื่อง “เพศ” เป็นสิทธิพื้นฐาน เป็นเสรีภาพเบื้องต้นที่ “มนุษย์” พึงมี และการถูกกดทับสิ่งเหล่านี้ ไม่ต่างจากการถูกลิดรอน“ความเป็นมนุษย์”

การที่ผู้ใหญ่เผด็จการในโรงเรียนมัวร์เดลกลัวการแสดงออก และการตระหนักถึงเสรีภาพเรื่องเพศของนักเรียนของพวกเขาฉันใด ประเทศเผด็จการแถวนี้ จึงหวาดกลัวการที่ผู้คนเคารพสิทธิเสรีภาพจนกล้าตั้งคำถามถึงกฎเกณฑ์เงื่อนไขของอำนาจนิยม

ไปจนถึงหวาดกลัวอนาคตของชาติที่กล้ายืนยันอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย หลุดกรอบปิตาธิปไตย จนสามารถเข้าถึง “พลังทางเพศ” ที่ทำให้พวกเขาเคารพตัวเองอย่างแท้จริงได้ฉันนั้น


ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *