ทุกครั้งที่บนโลกเกิดสงครามความคิด สงครามการเมือง ที่มีความคิดต่างขั้วปะทะกัน ท้ายที่สุดก็มักจำแนกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ “อนุรักษ์นิยม” และ “เสรีนิยม” ที่ถกเถียงกันระหว่างน้ำหนักของ “คุณธรรมศีลธรรม” ตามอุดมคติความดีที่มีเงื่อนไขยุบยิบแตกต่างไปตามหลักศาสนา ค่านิยม วัฒนธรรม ฯลฯ และ “มนุษยธรรม” ที่เคารพความเป็นมนุษย์ของกันและกัน และให้สิทธิ์เสรีภาพมนุษย์ในการเลือก “ความดี” ในแบบของตัวเองบนพื้นฐานที่ไม่ลิดรอนใคร
ภาพการชูไม้บรรทัดความดีของตนขึ้นมาฟาดเพื่อนมนุษย์จึงไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในยุคที่คนตื่นตัวเรื่อง “เสรีภาพ” มากขึ้น แต่สามารถทวีความขัดแย้งรุนแรงขึ้นได้ เมื่อสังคมนั้นๆ คาดหวังให้มนุษย์มี “ไม้บรรทัดความดี” อันเดียวกัน เพื่อจูงจมูกคนเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น

นักจิตวิทยาสังคมและวัฒนธรรม Jonathan Haidt ได้จำแนก “พื้นฐานคุณธรรม” หรือ “Morality Foundations” 6 ข้อเป็นทฤษฎีซึ่งอธิบายถึง “จริยธรรมตามสัญชาติญาณ” ของมนุษย์ ที่ทำให้เงื่อนไขความดีของมนุษย์ล้วนมีแก่นคล้ายกัน แม้จะผ่านการหล่อหลอมด้วยความคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรมที่ต่างกัน
1.การดูแล / การทำร้าย
มาจากสัญชาติญาณเบื้องต้นของมนุษย์ ที่มุ่งเอาตัวรอดปลอดภัย ทั้งสำหรับตนเองและ “เผ่าพันธุ์เดียวกัน”ฉะนั้น การทำร้ายกันจึงถูกจัดเป็นความไม่ดี ส่วนการดูแลกัน มีเมตตาต่อกันคือความดีฯลฯ
2.ความยุติธรรม / การโกง
การที่มนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคม การเห็นอกเห็นใจ ไม่เอาเปรียบกัน ย่อมนำพาความชุ่มชื่นใจและความปรองดองสู่สังคมนั้นได้มากกว่า การคำนึงถึงสิทธิ ความเสมอภาค ความยุติธรรม และอิสรภาพ ฯลฯ จึงเป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์
3.ความภักดี / การทรยศ
รากฐานความดีนี้สัมพันธ์กับสัญชาติญาณ “ชนเผ่า” ที่ทำให้มนุษย์รักคนที่ตนรู้สึกมีความเชื่อมโยงเป็น “พวกเดียวกัน” มากกว่าคนนอก คนบางจำพวกที่ยึดถือฐานความดีแง่นี้เป็นพิเศษ จึงอาจมีความเป็น “ชาตินิยม” รักพวกพ้อง ฯลฯ ซึ่งเราอาจเห็น “คนดีย์” ที่ยึดอุดมคติความดีนี้เป็นชาวอเมริกันที่สนับสนุนนโยบายกีดกันคนต่างด้าวของทรัมป์ ฯลฯ

4.อำนาจ / การโค่นล้ม
รากฐานความดีแบบ “อำนาจนิยม” เชื่อว่าสังคมมนุษย์จำเป็นต้องมีชนชั้น และมีบัลลังก์อำนาจคอยควบคุมปกครอง แม้แต่ในสถาบันศาสนาก็ยังต้องมีระดับชั้นตำแหน่ง อาจมาจากความเชื่อว่า “มนุษย์ต้องการพระเจ้า” หรือพื้นฐานความเชื่อว่ามนุษย์ไม่ดีพอที่จะควบคุมตัวเอง “เสรีภาพ” จึงเป็นอันตรายเกินไป
5.ความศักดิ์สิทธิ์ / ความเสื่อมโทรม
มาตรฐานความดีนี้มีอิทธิพลจาก “ศาสนา” โดย “ความศักดิ์สิทธิ์” คือความไร้มลทินจาก “บาป” แตกต่างไปตามความเชื่อ เช่น ชาวคริสต์เชื่อว่าร่างกายมนุษย์เป็น “วิหารของพระเจ้า” การมีกิจกรรมทางเพศก่อนแต่งงานซึ่งเป็นบาปของคริสต์จึงทำให้ร่างนั้นสูญสิ้นความศักดิ์สิทธิ์หรือในสังคมพุทธไทย การกินเหล้า เล่นพนัน ดื่มด่ำอบายมุข สามารถทำให้ใครคนหนึ่งมีภาพของ “ความเสื่อม”และไม่น่าเคารพ ฯลฯ
6.เสรีภาพ / การกดขี่
แม้พื้นฐานคุณธรรมบางมิติจะเกี่ยวกับการเคารพอำนาจ แต่การถูกคนที่มีอำนาจมากกว่ากดขี่ และลิดรอนเสรีภาพ ไม่อาจทำให้มนุษย์รู้สึกว่านั่นเป็นสิ่งดี ๆ ในชีวิตได้ แต่ก็อาจไม่ใช่ทุกคนที่ให้ความสำคัญกับคุณธรรมมิตินี้ และอาจรับได้กับการถูกกดขี่ หากมีคุณธรรมมิติอื่นมาหักล้างกัน เช่น คนไทยที่ยอมรับกฎหมายจำกัดเสรีภาพการแสดงออกเพื่อผดุงความศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ ฯลฯ

ภายหลังมีการศึกษาเกี่ยวกับ “ทฤษฎีพื้นฐานคุณธรรม” กับ “แนวคิดทางการเมือง” พบว่าในขณะที่คนที่มีแนวคิดแบบ “อนุรักษ์นิยม” ให้ความสำคัญกับเกณฑ์คุณธรรมทุกข้อเฉลี่ยกัน คนที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยมมักให้ความสำคัญและอ่อนไหวต่อข้อ“การดูแลสวัสดิภาพ และไม่ทำร้ายกัน” และข้อ “เสรีภาพ”มากกว่านิยามคุณธรรมข้ออื่น ๆ
สอดคล้องกับการที่คนที่มีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม มักชักแม่น้ำทั้งห้ามาเป็นเงื่อนไขตัดสินความดีของชาวบ้านได้หลากหลายกว่าแม้จะไม่หนักหัวใครเลยก็ตาม เช่น การต่อต้านการทำแท้ง ที่คนมีศาสนาเชื่อว่าเป็น “บาปการฆ่า” และทำผิดต่อ “ร่างกายอันเป็นของศักดิ์สิทธิ์” ในขณะที่ชาวเสรีนิยมเห็นอกเห็นใจ มองเห็นความจำเป็น และเสรีภาพการเลือกของคนอุ้มท้องมาก่อน
หรือเช่น การมองว่าการไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญฯในโรงหนังเป็นความต่ำช้าที่รับไม่ได้ของชาวอนุรักษ์นิยมในประเทศเผด็จการ เพราะเป็นการไม่เคารพอำนาจ = ไม่รักชาติ = ไม่ดี ในขณะที่ชาวเสรีนิยมมองว่าวัฒนธรรมบังคับหรือกดดันให้ยืนเพื่อเป็นการเคารพเหล่านี้เป็นการลิดรอนสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่ควรเลือกได้ว่าจะรัก/ไม่รัก เคารพ/ไม่เคารพใครก็ตาม ฯลฯ

สงครามความคิดและวัฒนธรรมระหว่าง “อนุรักษ์” กับ “เสรี” เป็นความขัดแย้งคลาสสิคที่เกิดขึ้นทั่วโลก เราสามารถเห็นการชุมนุมของผู้คนที่สนับสนุนพรรคการเมืองที่มีอุดมคติความดีตรงกับอีโก้ของตนแม้จะขัดกับหลักเสรีภาพ หรือกลุ่มคริสเตียนยืนชูป้ายด่าสาปคนที่จะมาทำแท้งอยู่หน้าคลินิค หรือชาววีแกนถือป้ายแซะคนกินเนื้ออยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต
ในขณะที่ประเทศเหล่านั้นไม่มีใครถูกทำร้ายเพราะโหวตให้ผู้นำที่ชาวโลกขยะแขยงเพราะพวกเขามีสิทธิ์ แถมยังผ่านกฎหมายทำแท้งเสรีทั้งที่มีชาวคริสต์เต็มประเทศ และไม่มีกฎหมายจำกัดเวลากินเนื้อเพียงเพราะคนบางกลุ่มมองว่าบาป

เพราะการที่ “เกณฑ์ศีลธรรมในอุดมคติ” ส่งผลต่อทัศนคติทางการเมืองของมนุษย์ต่างกันไม่ใช่เรื่องผิด แต่ความสามานย์คือการที่บางประเทศมี “ระบอบเผด็จการ” กีดกันไม่ให้ประชาชนมีสิทธิ์เลือกใช้ชีวิตตามเกณฑ์ความดีของพวกเขา
แถมยังบัญญัติเกณฑ์ “ความดีย์” ให้มีเงื่อนไขเอื้อประโยชน์พวกพ้องตนเป็น “กฎหมาย” เบ็ดเสร็จ ที่ลิดรอนทางเลือกอื่น
เช่นการห้ามคนไม่รักกษัตริย์ เพื่อผดุงเสถียรภาพของระบอบอำนาจ ห้ามคนวิจารณ์รัฐบาลเผด็จการเพื่อป้องกันการกระด้างกระเดื่อง และนำข้อศาสนามาเป็นกฎหมายเพื่อตอกย้ำอำนาจในการจำกัดเสรีภาพ ฯลฯ

การที่ “เผด็จการ” ทำตัวเป็นพระเจ้า กำหนดเกณฑ์ “ความดี” ที่ชาวบ้านพึงกระทำ ให้เป็นกฎหมายใช้กับประชาชนอย่างทั่วถึง ไม่ใช่แค่ความ “หน้าด้าน” แต่คือการบอกย้ำว่า พวกเขามีอำนาจในการชี้บุญบาปให้กับประชาชน โดยมี “ผู้ศักดิ์สิทธิ์”เล่นบทสมมติเทพ นั่งเป็นประมุขระบอบอำนาจนิยมนี้เพื่อการันตีอีกที
การจำกัด “มิติความดี” เป็นกฎหมายของประเทศใต้อำนาจเผด็จการ จึงไม่ใช่แค่การถูกลิดรอนสิทธิพื้นฐานต่าง ๆ เช่น จำกัดเวลาซื้อแอลกอฮอล์ จำกัดการสมรสเฉพาะชายหญิง หรือการทำแท้งผิดกฎหมาย ฯลฯ
แต่คือการยัดมนุษย์ลง “แม่พิมพ์คุณธรรม” ที่ออกแบบโดยคนมีอำนาจ เพื่อผลิตประชาชนที่เชื่อฟัง ใช้ง่าย ไม่กระด้างกระเดื่อง เพื่อสร้างเสถียรภาพและความมั่งคั่งของชนชั้นอำนาจ แลกกับการการันตีว่าเป็นพลเมืองดี
อาจเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการเป่าหูสอนมาตรฐานความดี ที่มีเพียงการรัก “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” เป็นการย้ำชวนเชื่อว่า… คนไทยยึดมาตรฐานคุณธรรมเพียง 3 ข้อ แค่ “มีความภักดี ศิโรราบต่ออำนาจ และกราบความศักดิ์สิทธิ์” ก็เพียงพอแล้ว

ในขณะที่ “คนดีย์” ของประเทศนี้ถูกเผด็จการเสี้ยมให้เชื่อว่าสังคมมนุษย์ควรมีแต่ความปรองดอง ไร้ความขัดแย้ง และไม่ต้องเถียงกันว่า “ความดี” ในนิยามของแต่ละคนคืออะไร…
แต่แท้จริงแล้ว “ความแตกต่าง” ของการจัดลำดับค่านิยมความดีไม่เคยเป็นอันตราย มากไปกว่าผู้ที่ตั้งตนเป็นผู้ผลิต “แม่พิมพ์คนดีย์”
สงครามที่แท้จริงไม่ใช่ระหว่าง “อนุรักษ์นิยม” กับ “เสรีนิยม” แต่คือ “ประชาชน” กับคนที่หลอกใช้เราต่างหาก
อ้างอิง
1-https://en.m.wikipedia.org/wiki/Moral_foundations_theory
2-https://moralfoundations.org/
3-https://www.usatoday.com/story/news/2017/12/26/you-good-person/967459001/