“เผด็จการความศรัทธา”มาพร้อมกับอำนาจนิยม…เพราะประเทศนี้อุดมไปด้วยศาสนิกคลั่งอัตตาและคลั่งอำนาจ แม้แต่สิทธิการ “กราบ” จึงถูกจำกัด

“เผด็จการความศรัทธา”มาพร้อมกับอำนาจนิยม…เพราะประเทศนี้อุดมไปด้วยศาสนิกคลั่งอัตตาและคลั่งอำนาจ แม้แต่สิทธิการ “กราบ” จึงถูกจำกัด


ตั้งแต่ลัทธิ “ธรรมกาย” และบารมีของพระธัมมชโยที่ถูกโค่นลงด้วยน้ำมือรัฐบาลเผด็จการ มาถึงข่าวของ “อดีตพระยันตระ” ผู้ซึ่งเคยถูกจับสึกปาราชิกเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว ด้วยข้อหาเสพเมถุน และดูหมิ่นก้าวล่วงสมเด็จพระสังฆราชในสมัยนั้น ท่ามกลางความกังขาและเจ็บแค้นใจของลูกศิษย์ที่เชื่อว่าผู้เป็นศูนย์รวมความเชื่อของตนไม่ได้รับความเป็นธรรม ที่เพิ่งกลับมาประเทศไทยหลังจากลี้ภัยไปใช้ชีวิตในสมณเพศในสไตล์ของตัวเองที่อเมริกา

และสร้างความร้อนใจให้แก่ชาวพุทธไทยพุทธแท้ทั้งหลายที่ได้เห็นว่านอกจากอดีตพระคนนี้จะกลับมาด้วยสัญลักษณ์แห่งความ “กบฏ” เต็มตัว ด้วยการไว้ผมยาว และสวมจีวรสีเขียวแทนสีส้ม เหล่าลูกศิษย์ของพระนอกรีตเถรวาทไทยคนนี้ยังคงก้มกราบและรอต้อนรับเขาอยู่แทนที่จะรวมหัวกับสำนักพุทธไทยเพื่อหาเรื่องไล่ออกนอกประเทศอีกรอบ

ในขณะที่ชาวโลกไม่เคยมีปัญหากับการมีศาสนาคริสต์หลายนิกายที่มีทั้งนักบวชถือพรหมจรรย์กับศาสนาจารย์ที่มีลูกเมียอยู่ในประเทศเดียวกันแต่รัฐบาลไทยพยายามสงวนอำนาจในการตั้งด้อม “พุทธ” ไว้สำหรับวินๆ เดียวที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐไทยและเป็นศาสนาของสถาบันกษัตริย์เท่านั้น เหมือนเพื่อให้ง่ายต่อการควบคุม มากกว่าคำนึงถึงเสรีภาพในการนับถือศาสนาอย่างที่บอกชาวโลก

ขอบคุณภาพจาก : https://www.matichon.co.th/

จากการที่มีสื่อช่องหนึ่ง ไปสัมภาษณ์พระสงฆ์ชื่อดังรูปหนึ่งที่ถือเป็นพระผู้ใหญ่ในวงการสงฆ์ไทย ถึงการที่มีพระสงฆ์ไทยในผ้าเหลืองไปกราบ “อดีตพระยันตระ” พร้อมกับญาติโยม พระรูปนั้นตอบว่า “เป็นการไม่เหมาะสมที่นักบวชจะกราบฆราวาส โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีคดีและถูกศาลตัดสินโทษ …ซึ่งขนาดพระเจ้าแผ่นดิน พระสงฆ์ยังไม่ต้องกราบ แล้วคนๆ นี้เป็นใครพระสงฆ์เหลานั้นถึงต้องไปกราบ”

ในขณะที่บนผืนแผ่นดินเดียวกันนี้ กลับมีการแกมบังคับให้ประชาชนศิโรราบกราบกรานมนุษย์กินขี้ปี้นอนผู้ไม่ได้อยู่ในศีลบวช แถมเต็มไปด้วยคราบคาวกาเม และศีลแตกตั้งแต่ข้อหนึ่งด้วยการสั่งเก็บคนเป็นว่าเล่นโดยที่วงการสงฆ์ไทยเองก็ยังเชื่อว่าคนเหล่านั้นเป็นดั่งผู้มีบุญญาธิการ ดั่งเทวดามาเกิด แถมให้ศีลให้พรอย่างไม่กังขาเพียงเพราะฆราวาสตระกูลนั้นเป็นผู้ผูกขาดอำนาจสูงสุด

ทำให้เราเห็นได้ชัดว่า เหนืออื่นใดนอกจากเรื่องของการปกป้องความบริสุทธิ์และแก่นหลักธรรมของศาสนา สิ่งที่สำคัญมาเป็นอันดับแรกในความตระหนักคำนึงของวงการพุทธไทย กลับเป็นเรื่องของลำดับชั้น “อำนาจ”

ความเจ้ายศเจ้าอย่าง ซึ่งเผยกลิ่นอายของ“อำนาจนิยม” ออกมาอย่างเด่นชัด ทั้งที่ไม่ควรเป็นเรื่องที่ควรถือไว้สำหรับบริบทของความเป็นศาสนาแห่งการปล่อยวางซึ่งอัตตา

ขอบคุณภาพจาก : https://www.pptvhd36.com/

ในปี 2564 นี้ “สำนักงานพระพุทธศาสนา” หน่วยงานที่ทำหน้าที่ทำนุบำรุง ดูแลกิจการศาสนาพุทธซึ่งขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรีได้รับงบประมาณประจำปีจากรัฐบาลไทยไปกว่า 3,000 ล้านบาท  ซึ่งเม็ดเงินที่ถูกอัดฉีดเข้ามาเพื่อทำนุบำรุงความมั่นคง ภาพลักษณ์ และอิทธิพลของศาสนาพุทธไทยในสังคมไทย ล้วนมาจากประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะสังกัดศาสนาใด หรือไม่นับถือศาสนาเลยก็ตาม

นับเป็นความ “ไม่แฟร์” ในเบื้องต้นเลยด้วยซ้ำ ที่ประชาชนคนไทยไม่มีสิทธิ์เลือกสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนองค์กรศาสนา หรือลัทธิความเชื่อของตนอย่างเป็นทางการผ่านการจ่ายภาษีได้เลย อีกทั้งยังต้องจำใจส่งลูกเรียนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีการบังคับสอนศาสนาอยู่ในหลักสูตร

ขอบคุณภาพจาก : https://www.khaosod.co.th/

นอกจากการไม่ให้เกียรติ “สิทธิความศรัทธา” ของประชาชนด้วยการใช้ภาษีเพื่อสนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษแล้ว ความเป็น “เผด็จการความเชื่อ” ของรัฐไทยยังแสดงออกผ่านค่านิยม วัฒนธรรม และอุดมคติความดีงามที่ยัดเยียดให้คนไทยทุกคนถือให้ได้อย่างพร้อมหน้าด้วยการจำกัดไลฟ์สไตล์และสิทธิการเลือกของผู้คนไว้ในกรอบข้อศีลธรรมของเพียงศาสนาเดียวที่รัฐสนับสนุน

ทั้งที่ความจริงแล้วเรื่องของ “ศรัทธา” ที่ไม่ว่าจะเป็นที่นิยมจนเป็นระดับองค์กรศาสนาระดับโลก หรือเป็นลัทธิเฉพาะกลุ่ม ล้วนเป็นเรื่องของใครของมัน
ตราบใดที่ไม่มีการละเมิดใคร “ลัทธิความเชื่อ”ที่ตั้งอยู่บนหลักการมนุษยธรรมเป็นเพียงวัฒนธรรมความศรัทธาเฉพาะกลุ่ม

ที่ไม่ควรมีใครเอาไม้บรรทัดของตนไปวัดกับชาวบ้าน ว่ากลุ่มใครจะได้ขึ้นสวรรค์มากกว่ากัน หรือความเชื่อแบบใดทำให้คนมีมนุษยธรรมมากกว่ากัน และที่สำคัญคือไม่ควรมีรัฐบาลประเทศไหนเอาเกณฑ์ความดี หรือข้อบังคับบุญบาปของลัทธิใดลัทธิหนึ่งไปเหมาใช้กับทุกชีวิตในสังคมอย่างไม่ให้ใครได้มีสิทธิ์เลือก

วัดธรรมกาย

ไม่ว่าผู้คนในสังคมนั้นๆ จะมีกลุ่มใดเลือกกราบพระพุทธเจ้า พระเยซู พระแม่มารีย์ หรือต้องสวดอ้อนวอนพระเจ้าสามเวลาหลังอาหาร หรือจะเลือกกราบเทพงูยักษ์ที่มีเมียเป็นร้อย กราบต้นตะเคียนข้างบ้าน บูชาเทพอียิปต์ เต้นรำบูชาดวงจันทร์ในคืนเดือนเต็มดวง หรือเชื่อเรื่อง UFO และเชื่อว่ามนุษย์ต่างดาวคือเผ่าพันธุ์พระเจ้าที่มีวิวัฒนาการสูงกว่ามนุษย์ หรือไม่ศรัทธาสิ่งใดเลยนอกจากมนุษยธรรม และปัจจุบัน ฯลฯ

หรือแม้กระทั่งศรัทธาในหลักการของศาสนาเดียวกับรัฐ แต่มีบางวิถีหรือกุศโลบายที่ต่างกันก็ตาม …ตราบใดที่ไม่มีการบังคับให้บูชายัญด้วยเลือดเนื้อมนุษย์ ไม่มีการล่อลวงหรือล่วงละเมิดใครมาศรัทธา ไม่มีการบังคับบูชาเทพใดด้วยการรีดไถปัจจัยในนามภาษีประชาชน ฯลฯ

…ความเชื่อ และศรัทธาส่วนบุคคลเหล่านี้ไม่ควรถูกจำกัด ตัดสิน เดียดฉันท์ให้ต่ำกว่าจนต้องเอาผิดทั้งทางกฎหมายและทางสังคม

ขอบคุณภาพจาก : https://www.thairath.co.th/

หากไม่ใช่ความหลงตัวเองจนอันตราย ที่ทำให้รัฐไม่ตระหนักว่าไม่ควรมีมนุษย์กินขี้ปี้นอนหน้าไหนสำคัญตัวว่ามีหน้าที่เป็น “ตำรวจศาสนา” คอยตรวจจับว่าใครเป็นสาวกแท้หรือเทียม ใครเชื่อมากเชื่อน้อย หรือจำกัดแม้กระทั่ง “วิถีการเข้าถึงธรรมะ” ให้มีคำว่า “เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม” มากำกับ โดยขึ้นกับวิจารณญาณของคนที่แค่เกิดก่อน หรือทำงานในแวดวงนี้มาก่อน

ก็อาจเป็นเพราะ “ศรัทธา” เหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงความเชื่อที่ช่วยส่องทางชีวิตและขัดเกลาจิตวิญญาณ แต่อาจเป็น “บ่อทอง” ที่รัฐพร้อมสอดส่องเพื่อหาช่องทางในการ “ร่วมขุด” ด้วย โดยตราบใดที่ดีลลงตัว ลัทธินั้นย่อมตั้งอยู่ได้ แต่หากกลุ่มลัทธิใดไม่ยอมจ่ายค่าเสื้อวิน หรือสยบยอมต่อ “ระบอบอำนาจ” อันมีใครสักคนเป็นประมุขอยู่ แถมยังได้รับความนิยมจากคนหมู่มากจนกลายเป็นความมี “อิทธิพล” ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลทางใจและอิทธิพลต่อเงินในกระเป๋า …ย่อมถูกรัฐอำนาจนิยมนั้น ๆ จ้องโค่นล้มให้จงได้เพื่อไม่ให้มีเสือหลายตัวในถ้ำเดียวกันมากเกินไป

ขอบคุณภาพจาก : https://www.tqm.co.th/

ความจริงแล้วการ “ก้มกราบ” การเชื่อถือ ศรัทธา ไปจนถึงงมงายในปรัชญา หรือกระทั่งตัวตนอันศักดิ์สิทธิ์ของศาสดาองค์ใดก็แล้วแต่ ล้วนไม่มีความเลวร้าย หรือการ “ละเมิด” อยู่ในตัว หากการเคารพต่อสิ่งนั้นมาจากเจตนาที่ไม่มีการบังคับ ไม่มีกฎหมายมาลงโทษคนไม่อยากกราบหรือคนชี้นิ้วตั้งข้อสงสัย และไม่มีการบังคับจ่ายเงินค่าครูหรือบำรุงสถาบันนั้นๆ โดยหักจากภาษี

หากคนไทยตระหนักเรื่อง “สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล” ได้อย่างแท้จริง คงสามารถเข้าใจได้ง่ายว่าเรื่องของ “ศรัทธา” มีเพียงการตระหนักว่า ใครใคร่ “กราบ” ก็กราบ ใครใคร่เชื่อก็เชื่อไป และไม่ควรมีใครมาวุ่นวายกับคนไม่กราบ หรือคนที่เลือกกราบสิ่งอื่นเท่านั้นเอง

และหากรัฐบาลประเทศใดมีนโยบายสนับสนุนด้าน “ความศรัทธา”ก็ควรให้ทางเลือกกับประชาชนอย่างเป็นธรรม ที่จะให้ผู้ศรัทธาเลือกสนับสนุนสถาบันที่ตนศรัทธา ส่วนผู้ที่ไม่ศรัทธาก็สามารถเลือกที่จะไม่กราบ ไม่เชื่อ ไม่ทำตาม และไม่จ่ายก็ได้ด้วย


ขอบคุณรูปภาพหน้าปกจาก : https://www.nationtv.tv/

อ้างอิง

1-https://thainews.prd.go.th/th/news/print_news/TCATG200703152915961

2-https://th.m.wikipedia.org/wiki/


ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *