“ความกลัวตาย” และทัศนคติต่อ “ความตาย” อันเป็นสิ่งสามัญพอๆ กับการกิน การนอน การเกิด…ที่ทุกคนต้องประสบอย่างเท่าเทียมส่งผลต่อโลกทัศน์ การใช้ชีวิต การตัดสินสิ่งต่างๆ ตลอดชีวิตได้มากกว่าที่คิด
นอกจากมนุษย์ที่เป็นมิตรกับ “ความตาย” มีแนวโน้มมีสุขภาพจิตดีกว่า ยอมรับความสูญเสีย และตระหนักถึงความหมายในชีวิตได้มากกว่า ในขณะที่ผู้คนที่ฝังความกลัวตายลงในจิตใต้สำนึกตลอดเวลา ทรมานกับการดิ้นรนเพื่อแสวงหา “ความอมตะ” ให้ตนเองอย่างไม่จบสิ้น ด้วยการสร้างสถานะทางสังคม การเอาคุณค่าชีวิตไปผูกไว้กับความสำเร็จ อำนาจ ตำนานที่เชื่อว่าจะทำให้ชื่อตนเป็นอมตะ
“การกลัวตาย” ยังสามารถเปิดโหมด “สัญชาติญาณ” แทนโหมด “มนุษยธรรม” เพื่อเลือกที่จะยอมทำลายชีวิตอื่นที่ทำให้ตนรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย ยอมแม้จะถูกยึดเสรีภาพแลกกับกองทัพติดอาวุธที่จะช่วยฆ่าศัตรูให้
มนุษย์ที่กลัวตายมากกว่า จึงมีแนวโน้มยอมรับอำนาจเผด็จการได้มากกว่า

เคยมีศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา Sheldon Solomon ได้ทำการศึกษาต่อจาก “ทฤษฎีการจัดการกับความกลัว” หรือ Terror management theory(TMT) ของนักจิตวิทยาErnest Becker ซึ่งเป็นทฤษฎีที่อธิบายว่า “ความคิดเกี่ยวกับความตาย” นั้นส่งผลต่อการตัดสินใจและการตัดสินผู้อื่นของมนุษย์อย่างไร
หนึ่งในการทดลองของ Sheldon คือการทดลองกับผู้พิพากษา22 คนในรัฐแอริโซนา ซึ่งระบุว่าเป็นการศึกษาเกี่ยวกับการตัดสินจำนวนเงินประกันตัวของจำเลย และแบ่งผู้พิพากษาเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งทำแบบสอบถามปกติ อีกกลุ่มได้ทำแบบสอบถามที่แฝงคำถามที่ชักนำให้คิดเรื่องความตายของตัวเอง เช่น ให้อธิบายอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อคิดถึงความตาย และให้เขียนถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อพวกเขาตาย

หลังจากนั้นผู้พิพากษาทั้งหมดจะได้รับบทสรุปเกี่ยวกับคดีความ “ค้าประเวณี” และต้องตัดสินเรื่องจำนวนเงินประกันตัวของจำเลย ผู้พิพากษาที่ทำแบบสอบถามปกติกำหนดค่าประกันตัวไว้ที่ 50 ดอลลาร์ ส่วนผู้พิพากษาที่ผานการคิดเรื่องความตายกำหนดค่าประกันตัวจำเลยค้าประเวณี 455 ดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าจำนวนปกติ
เป็นอีกหนึ่งการทดลองที่ยืนยันทฤษฎีที่ว่า มนุษย์ที่ได้ขบคิดเรื่องความตาย รู้สึกว่าความตายนั้นใกล้ตัว ไปจนถึงรู้สึกกลัว มีแนวโน้มจะตัดสินและทำอะไรที่เป็นการสนับสนุนอุดมคติเกี่ยวกับความหมายของชีวิตแบบที่พวกเขาเชื่อเพื่อทำให้รู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง แม้ว่า “อุดมคติ” เหล่านั้นจะขัดกับหลักมนุษยธรรม จะขัดขวางเสรีภาพของผู้อื่น หรือต้องห้ำหั่นกับเพื่อนมนุษย์ที่มีแนวคิดต่างจากตนจนทำให้รู้สึกว่าเป็น “คนนอกเผ่า” ของตนก็ตาม

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจเข้าใจว่า “การกลัวตาย” มาจากการมีศรัทธาที่สูงส่ง หรือความเคร่งศาสนา…
แต่ความจริงแล้ว มันมาจากความไร้ศรัทธา และความกลัวชีวิต…
งานวิจัยเผยว่า มนุษย์ที่ “กลัวตาย” มากที่สุด คือกลุ่มคนที่มีศาสนาแบบครึ่งๆกลางๆ เช่นพวกที่มีศาสนาเอาไว้ระบุบนบัตรประชาชน หรือเอาไว้เป็น “บัตรผ่านคุณธรรม”(Moral License) ไว้อ้างกับตัวเองว่าอย่างน้อยฉันมีส่วนหนึ่งที่บ่งบอกว่าฉันมีคุณธรรม ในขณะที่คนที่กลัวตายน้อยกว่า คือคนที่ไม่มีศาสนา หรือเคร่งศาสนาไปเลย
เพราะการตระหนักรู้ถึง “ความหมายของชีวิต” ไปจนถึงการมี “ความเชื่อเกี่ยวกับความตาย”ที่ชัดเจนในใจ ทำให้มนุษย์กลัวตายน้อยลง…
ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อว่ามนุษย์มีชีวิตเดียว และความจริงแท้มีเพียงปัจจุบันของคนไม่มีศาสนา ก็เพียงพอต่อการให้ความหมายชีวิต หรือการที่ชาวเพแกน(Paganism)คนไร้ศาสนาที่นับถือธรรมชาติและเทพหลายองค์ เชื่อว่ามนุษย์เป็นหนึ่งเดียวกันและสอดคล้องกับธรรมชาติ ซึ่งความตายเป็นเพียงการคืนร่างสู่ธรรมชาติและการเปลี่ยนสถานะของจิตวิญญาณไปสู่โลกอื่น ก็ทำให้ความตายเป็นเพียงการผจญภัยครั้งใหม่ที่แสนเรียบง่าย

หรือแม้กระทั่งชาวพุทธที่เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด และชาวคริสต์ที่เชื่อว่าการตายคือการกลับไปหาพระเจ้าการมีความเชื่อในศาสนาอย่างสุดจิตใจและบรรลุถึงแก่นปรัชญาที่อยู่เหนือ “กุศโลบาย” อันเป็นเพียงกฎเพื่อให้สังคมมนุษย์สงบสุขและไม่ฆ่ากันเองนั้น นำมาซึ่งความหวังและทัศนคติที่ดีต่อการบอกลาร่างเนื้อหนัง
แต่มนุษย์ที่มีศรัทธาแบบครึ่งๆ กลางๆ เคร่งศาสนาเป็นประเพณี แต่ไม่เคยก้าวพ้นการท่องข้อศีลเพื่อเอาเกณฑ์บุญบาปไว้ฟาดตัวเองและคนอื่นเอาแต่บ้าบุญ แข่งกันอยู่ในกรอบบัญญัติแต่ไม่เคยบรรลุถึงแก่นปรัชญาที่อยู่เหนือกฎทุกข้อ…ย่อมใช้ชีวิตอยู่ด้วยการกดความกลัวตายไว้ในจิตใต้สำนึก ที่ยิ่งกดก็ยิ่งสะท้อนออกมา
เป็นการมีชีวิตอยู่เหมือนจะไม่มีวันตาย วิ่งล่าความหมายในชีวิตในสิ่งของต่างๆ สร้างตำนานของตัวเองเพื่อให้ชื่อเป็นอมตะ ไปจนถึงยอมทำลายใครก็ตามที่ทำให้นึกกลัวตาย นำไปสู่การโหยหา “อำนาจเผด็จการ” ที่มีอำนาจเบื้องบนควบคุมสังคมมนุษย์ให้ปลอดภัยแม้จะไร้เสรีภาพก็ตาม…ทุกสิ่งเหล่านี้ล้วนมีฐานมาจากการกลัวตาย

กลุ่มคนมีอำนาจรู้เรื่องนี้ดี…
พวกเขาจึงใช้ประโยชน์จากความกลัวตายของมนุษย์ด้วยการบ่มเพาะความรู้สึกไม่ปลอดภัยไว้ในสังคม เพื่อให้มนุษย์กลัวกันเอง
สังคมใดที่มีระบอบอำนาจนิยมเข้มแข็ง ที่เปิดทางให้คนบางกลุ่มกุมอำนาจเบ็ดเสร็จไว้กับพวกตน จึงหมั่นตอกย้ำให้ผู้คนแบ่งออกเป็นฝักฝ่าย ผ่านความเชื่อ แนวคิดทางการเมือง ไปจนถึงทัศนคติเกี่ยวกับเสรีภาพหรือแม้กระทั่งทำให้ผู้คนในสังคมเชื่อว่ามี “สงคราม” บางอย่างอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้คนที่จิตอ่อนตื่นตระหนกมากพอที่จะอยากให้มีผู้มีอำนาจติดอาวุธปกป้องพวกเขาจากสงครามและฟันศัตรูทิ้ง
ซึ่ง “ศัตรู” ในที่นี้สามารถเป็นใครก็ได้แม้กระทั่งคนในบ้าน ที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าชีวิตมีภัยและสามารถถึงตายได้ ซึ่งเป็นเหตุเดียวกันกับการที่ชาวอเมริกันเลือกประธานาธิบดีอนุรักษ์นิยมหลังเหตุการณ์ 9/11

นอกจากเรื่องของอำนาจทางการเมือง ผู้ที่ต้องการมีอำนาจเหนือเงินในกระเป๋าของผู้คน ก็รู้เรื่องนี้ดีเช่นกัน…
“ทุนนิยม” ในปัจจุบันขยันขันแข็งในการกระตุ้นความ “กลัวตาย” ในขณะเดียวกันก็พยายามดึงมนุษย์ให้ออกห่างจากการเป็นมิตรกับความตายให้มากที่สุด ไม่ใช่เพื่อให้มนุษย์มีชีวิตยืนยาวเพื่อซื้อของและซื้อบริการของพวกเขาไปนานๆ เท่านั้น แต่เพื่อให้แน่ใจว่า มนุษย์จะขายวิญญาณ และใช้เวลาทั้งหมดของชีวิตเพื่อหาเงินมาซื้อของๆ พวกเขาให้ได้มากที่สุดนายทุนเหล่านี้จึงไม่รู้สึกผิดในการขายการทำลายสุขภาพกายและใจให้ผู้คน เพื่อขายยารักษาอีกที ฯลฯ

“โดยทางความตายนั้น พระองค์จะทรงทำลายมารผู้มีอำนาจแห่งความตาย และจะทรงปลดปล่อยบรรดาคนเหล่านั้นที่ตกเป็นทาสมาตลอดชีวิตเนื่องจากความกลัวตาย” (ฮีบรู 2:14-15)
ในคัมภีร์ไบเบิล กล่าวถึงการที่พระเยซูมายังโลกนี้เผื่อไถ่มนุษย์ให้เป็นอิสระจากบาป โดยมีการเปรียบว่า “มาร” เป็นผู้ทำให้มนุษย์ตายและตกเป็น “ทาส” เพราะความกลัวตาย ประหนึ่งความเป็น “ไท” ที่แท้คือการไม่กลัวตาย
ในขณะที่ “ความกลัว” ขัดขวางไม่ให้มนุษย์บรรลุถึงศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ “ความกลัวตาย” กักขังจิตวิญญาณมนุษย์ได้เลวร้ายกว่านั้น
เพราะนอกจากจะถ่วงรั้งไม่ให้ดื่มด่ำกับนาทีปัจจุบันบนโลกอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องคอยวิ่งหาอะไรมาทำให้รู้สึกมีหวังที่จะเป็นอมตะ ความกลัวตายที่ทำให้มองเพื่อนมนุษย์เป็นเพียงใครสักคนที่สามารถชักนำความตายมาให้นั้น บั่นทอนการเห็นคุณค่าของการเชื่อมต่อกันระหว่างมนุษย์ไม่ว่าจะเผ่าไหนหรือมีแนวคิดอย่างไรและเปิดทางให้กับคนที่อยากฆ่า “มนุษยธรรม” ของเราอย่างแท้จริง
อ้างอิง
1-https://www.tpmap.org/wp-content/uploads/2015/11/20.4.2.pdf
2-https://www.scientificamerican.com/article/fear-death-and-politics/
3-https://aeon.co/ideas/how-the-fear-of-death-makes-people-more-right-wing
5-https://www.bible.com/th/bible/174/HEB.2.THSV11
6- https://www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/15528030.2018.1446068