การปฏิเสธ “สิทธิมนุษยชน” ในสังคมไทย ไม่ได้เพิ่งมีให้เห็นในขบวนของคนสวมเสื้อเหลืองขับไล่ “แอมเนสตี้” ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงนี้เท่านั้น
แต่ยังมีให้ประจักษ์กันตลอดมาทุกยุคสมัย ตั้งแต่การสนับสนุนมาตรา 112 เพื่อจำกัดเสรีภาพการพูดเกี่ยวกับสถาบันอำนาจ การคลั่งศาลเตี้ย อยากคงไว้ซึ่งโทษประหาร ไปจนถึงการปฏิเสธเสรีภาพในการตัดสินใจในชีวิตส่วนบุคคล อาทิ การต่อต้านทำแท้งเสรี ต่อต้านสมรสเพศเดียวกัน แม้กระทั่งการพยายามจำกัดการเสพสื่อโป๊ ฯลฯ แม้ว่ากระแสการตระหนักถึง “คนเท่ากัน” ไม่ว่าจะเพศไหน เชื้อชาติอะไร หรือนามสุกลใด กลายเป็น“คุณธรรม” ที่ทันสมัยของทั่วโลกในยุคนี้แล้วก็ตาม
ราวกับว่าหลายคนในประเทศนี้ไม่เคยอยากเป็น “มนุษย์” เต็มใบ ซึ่งสามารถมีความคิด ความเชื่อ และใช้ชีวิตตามเจตจำนงเสรีของตนได้ แถมยังพยายามกีดกันโอกาสในการได้เป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพของคนอื่นที่เหลือด้วย

การปฏิเสธ “สิทธิมนุษยชน”= การปฏิเสธ “ความเป็นมนุษย์”
สิทธิมนุษยชน ในปฏิญญาสากลประกอบด้วย
-การที่ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียม
-ไม่มีการแบ่งแยก
-สิทธิในการมีชีวิต
-ไม่ตกเป็นทาส
-ไม่ถูกทำร้ายหรือทรมาน
-สิทธิในการเป็นบุคคลตามกฎหมาย
-มีความเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ
-เท่าเทียมกันตามกฎหมาย
-ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย
-ไม่ถูกกักขังโดยพลการ
-ได้รับการพิจารณาด้วยความเป็นธรรม
-เป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะตัดสิน
-สิทธิความเป็นส่วนตัว
-เสรีภาพในการเดินทาง
-สิทธิในการลี้ภัย
-สิทธิในการมีสัญชาติ

-สิทธิในการแต่งงาน
-สิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน
-เสรีภาพในการนับถือศาสนา
-เสรีภาพในการแสดงออก
-เสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติ
-มีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ
-ได้รับการคุ้มครองดูแลจากรัฐ
-สิทธิในการทำงาน
-สิทธิในการพักผ่อน
-คุณภาพชีวิตที่ดี
-สิทธิในการศึกษา
-สิทธิในการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรม
-สันติภาพระหว่างประเทศ
-เคารพสิทธิผู้อื่น
-ไม่มีใครสามารถพรากสิทธิเหล่านี้ไปได้
การปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ไม่เพียงเป็นการจำกัด “เสรีภาพ” และ “สิทธิความเป็นมนุษย์” ของคนอื่น ซึ่งควรเลือกวิถีการดำเนินชีวิตของตนได้ ด้วยความเข้าใจว่ามนุษย์มีความหลากหลาย และไม่ได้มี “อุดมคติ” ของศาสดาองค์ใดเป็นศูนย์กลางจักรวาล
อีกทั้งยังแสดงถึงใจที่คับแคบ มองคนไม่เป็นคน จนไม่สามารถตระหนักว่าไม่ว่าจะใคร เผ่าพันธุ์ไหน มีความคิดความเชื่อแบบไหน หรือแม้แต่เคยทำผิดพลาดอะไรมา มนุษย์สมควรมีที่ยืนบนโลกใบนี้ สมควรได้รับความเป็นธรรม โอกาสและปัจจัยเพียงพอสำหรับดำรงชีวิต
แต่นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงการดื่มด่ำในความรู้สึกมีอำนาจ ของคนที่ร่วมมือกันจำกัดสิทธิความเป็นมนุษย์ของคนอื่นแม้จะแลกมากับการสูญเสียโอกาสที่จะได้สร้างสังคมที่มี “ความเท่าเทียม” ที่ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเสมอกัน

การปฏิเสธ “สิทธิมนุษยชน” คือการปฏิเสธ “ความเท่าเทียม”
แม้ว่าจะมีการศึกษาทดลองเกี่ยวกับการตระหนักถึง “ความเท่าเทียม” ในจิตใจมนุษย์เช่นงานศึกษาของ Alex Shaw และ Kristina R. Olsonนักวิจัยด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Yale ที่ค้นพบว่ามนุษย์เรียนรู้ที่จะตระหนักถึงความ “เท่าเทียม”(Equality) ตั้งแต่อายุ 3-8 ปี ด้วยการทดลองให้เด็กๆ อายุ 6-8 ขวบจัดการแบ่งยางลบซึ่งมีจำนวนเป็นเลขคี่ ให้กับเด็ก 2 คนที่มาทำความสะอาดห้องให้พวกเขา ซึ่งเด็กๆ ให้ความสำคัญในการแบ่งเท่ากัน จนเสนอให้ทิ้งยางลบก้อนที่เหลือเศษทิ้งไปแทนที่จะยอมให้เกิดความไม่เสมอภาคขึ้นแต่เด็กที่อายุ 6ขวบขึ้นไปก็อาจมีแนวโน้มที่จะรู้สึกพอใจหากตนอยู่ในจุดที่ได้ส่วนแบ่งมากกว่าคนอื่น
แต่ท้ายที่สุดแล้ว ณ โลกนอกห้องทดลอง เมื่อเด็กๆ ที่เคยโมโหเวลาถูกแบ่งขนมให้ไม่เท่ากันโตขึ้น มีหลายคนที่เลือกยอมให้เกิด “ความไม่เท่าเทียม” ในสังคมมากกว่า หากทำให้พวกเขารู้สึกเหนือกว่าคนอื่นได้ หรือเพราะ “ความไม่เท่าเทียม” นั้นมี “ความเป็นธรรม” แล้ว เช่น ความเชื่อว่าคนที่รวยกว่าเพราะขยันกว่าหรือฉลาดกว่า คนที่มีอำนาจมากกว่าจึงมีสิทธิ์จำกัดเสรีภาพของคนอื่น หรือคนที่มีศักดินาสูงกว่า คือคนที่เคยทำบุญมามากกว่า ฯลฯ
หรือหากความไม่เท่าเทียมนั้น ผ่านการตัดสินขาดจากผู้มีอำนาจ หรือสถาบันที่พวกเขาเชื่อถือเช่นงานศึกษาของ Tom Tylor ที่เคยออกมาอธิบายว่าทำไมคนอเมริกันถึงไม่ค่อยร้อนใจในเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในประเทศตน ว่าเป็นเพราะคนอเมริกันเชื่อว่าระบบตลาดและเศรษฐกิจของอเมริกานั้นยุติธรรมดีแล้ว

ความเชื่อใน “ความไม่เท่าเทียม” นี่แหละที่ทำให้เกิดการสนับสนุนให้มีการ “ละเมิดสิทธิมนุษยชน” แทนที่จะรักษาไว้เผื่อตนเองด้วย
แม้ว่าจะสมเหตุสมผลกว่า หากความคิดนี้มาจากชนชั้นอำนาจ ที่ได้รับประโยชน์เต็มๆ จากการลิดรอนมนุษย์คนอื่นเพื่อเสถียรภาพของขาเก้าอี้ของตน และไม่สะทกสะท้านต่อการกดขี่ใดๆ เพราะตนเป็นผู้กดขี่เสียเองอยู่แล้ว
แต่ดูพิกลนักเมื่อมนุษย์ที่อยู่ในจุดที่มีส่วนได้ส่วนเสียใน “สิทธิมนุษยชน”ออกมาต่อต้านสิทธิที่พวกเขาพึงมีเสียเอง ซึ่งแปลว่าพวกเขากำลังต่อต้านไม่ให้ตนได้รับการปกป้องในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เมื่อต้องเผชิญกับความไม่เป็นธรรมอันมาจากปลาตัวใหญ่กว่า อีกทั้งกำลังผลักไสไม่ให้ตนมีสิทธิเสรีภาพในการเป็นมนุษย์ที่เป็นอิสระจากการครอบงำใดๆ บนโลกนี้
เพราะเหตุผลที่คนเหล่านี้กล้าที่จะคิด และทำแบบนี้ คือความมั่นใจอย่างสุดโต่ง ว่าตนมีความชอบธรรมมากกว่าคนอื่น เพราะเป็นที่รักของชนชั้นอำนาจ และเป็นผู้มีอภิสิทธิ์ในระบอบอำนาจนิยมนี้พอสมควร จนไม่ต้องเผชิญกับความไม่เป็นธรรมใดตามมาตรฐานของคนทั่วไป

ปัญหาของการปฏิเสธ “สิทธิมนุษยชน” และ “ความเท่าเทียม” คือสิ่งเดียวกัน คือ “ระบอบอำนาจนิยม”
ที่ปลูกฝังให้คนไม่อยากได้ความเท่าเทียม เพราะอำนาจนิยมทำให้เห็นว่าการพึ่งพาบารมีจนได้รับอภิสิทธิ์แบบจำกัดนั้นเป็นความพิเศษกว่า ซึ่งเอาไว้ต่อขาอีโก้ และเสริมความเคารพตัวเองที่พร่องไปได้ง่ายกว่า
อีกทั้งยังเสี้ยมสอนไปในตัวว่า “ความเหลื่อมล้ำ” แม้กระทั่งศักดิ์ศรีและสิทธิความเป็นมนุษย์นั้นมีความเป็นธรรมอยู่แล้ว และไม่มีประโยชน์ที่จะเรียกร้องเพิ่มเติมเพื่อฝืนกฎธรรมชาติ เช่น คนที่มีศักดินาสูงกว่าเพราะมีบุญญาธิการ คนที่ร่ำรวยแม้จะมาจากการกดขี่ชาวบ้านเพราะผ่านความขยันและพยายามมาเยอะจนคู่ควรอยู่ในจุดที่เป็นปลาใหญ่กินปลาเล็กบ้าง หรือความเชื่อว่ามนุษย์ที่ถูกต้องมีแค่สองเพศฉะนั้นการเรียกร้องความหลากหลายอื่นคือการรั้นเพื่อฝืนธรรมชาติ ฯลฯ
ที่เลวร้ายที่สุดคือการปลูกฝังการตระหนักถึง “ความเป็นมนุษย์” อย่างไร้มนุษยธรรม ว่ามีมนุษย์บางกลุ่มที่ควรมีศักดิ์ศรีมากกว่าจนมีอภิสิทธิ์ควบคุมระบบยุติธรรม และจำกัดสิทธิเสรีภาพคนอื่นที่เหลือ

อาจพูดได้ว่าการปฏิเสธ “สิทธิมนุษยชน” คือการเลือกถอยหลังให้กับความเป็น “มนุษย์”ลงไปไม่มากก็น้อย เพื่อให้ตนรอดจากการต้องพึ่งพาสิ่งนี้เข้าเองในสักวัน
ซึ่งการหนีจากความเป็นมนุษย์ อันมีเจตจำนงเสรี มีความหลากหลาย และเรียกร้องศักดิ์ศรีของตนได้ แลกมาซึ่งการยอมตกเป็น “ทาส” ที่มีความคิด ความเชื่อได้ตามที่ระบอบอำนาจอนุญาตให้มีเท่านั้น
…ใครคิดว่าคุ้มแลกก็เอาเถอะ แต่ให้แน่ใจแล้วกัน ว่าจะไม่อยากเป็นมนุษย์เต็มตัวและมีเสรีภาพเป็นของตัวเองสักวัน
และขอให้แน่ใจแล้วกัน ว่าสักวันตนจะไม่กลายเป็นปลาตัวเล็กที่เป็นเหยื่อในระบอบอำนาจนิยมสามานย์นี้เอง
อ้างอิง